“อุตสาหกรรม” ขีดเส้น ITD เร่งเปิดเหมืองโปแตชใน 3 ปี
กพร. เผยบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่โพแทช คาดเริ่มเปิดเหมืองในอีก 3 ปี ลงทุนระยะแรก 13,600 ล้านบาท
รายงานข่าวจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า คณะกรรมการแร่ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้พิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน ทั้งหมด 4 แปลง พื้นที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี พื้นที่ราว 26,400 ไร่ ให้กับ บริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 โดยประทานบัตรมีอายุ 25 ปี นับตั้งแต่ 23 ก.ย.2565 ถึง 22 ก.ย.2590
ทั้งนี้ กพร.ได้ส่งประทานบัตรไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อให้บริษัทเข้ามารับและเริ่มดำเนินการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งโครงการดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและส่วนราชการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แร่พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทจะต้องแจ้งขออนุญาตเปิดการทำเหมืองภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับประทานบัตร และคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จึงจะเริ่มผลิตในเชิงพาณิชย์ สำหรับภาพรวมมูลค่าเงินลงทุนตลอดโครงการอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท โดยในช่วง 3 ปีแรกจะมีการลงทุนเจาะอุโมงค์ และก่อสร้างโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 40% ของโครงการทั้งหมด อยู่ที่ 13,600 ล้านบาท
โดยพื้นที่คำขอประทานบัตรของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีสัดส่วนแร่ 1 ส่วน ต่อเกลือ 2 ส่วนและยังถือเป็นโครงการที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในจำนวนคำขอทั้งหมด 3 ราย อยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี โดยประเมินว่าจะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการอยู่ที่ 33.67 ล้านตัน
สำหรับประทานบัตรที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติให้กับเอกชนอีก 2 ราย ได้แก่ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิจำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ ต.น้ำตาล บ้านเพชร และ หัวทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ พื้นที่รวม 9,707 ไร่ โดยประทานบัตรมีอายุ 25 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 6 ก.พ. 2558 - 5 ก.พ. 2583 ซึ่งยังติดปัญหาเรื่องโครงสร้างของบริษัท และการระดมทุน เนื่องจากมีสัดส่วนรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นด้วยและยังแก้ปัญหาไม่ได้ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเริ่มผลิตได้เมื่อใด
อีกรายคือ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.หนองไทร หนองบัวตะเกียด และโนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พื้นที่ 9,005 ไร่ ประทานบัตรอายุ 25 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 7 ก.ค. 2558 - 6 ก.ค. 2583 ขณะนี้บริษัทเจอปัญหาในระหว่างการหาตัวแหล่งแร่แล้วพบชั้นน้ำใต้ดิน จึงยังไม่สามารถดำเนินงานถึงขั้นตอนการผลิตได้
อย่างไรก็ตาม หากเหมืองทั้ง 3 แห่ง สามารถเปิดดำเนินการได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า จะทำให้ในประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหมืองโพแทชทั้งหมดได้จะอยู่ที่ 3.2 ล้านตันต่อปี รวมทั้ง จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทชประมาณปีละ 8 แสนตันมีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท