เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรง เวียดนามเร่งขยายพื้นที่ลงทุน
เศรษฐกิจเวียดนามโตต่อเนื่องแม้ประสบวิกฤตโควิด ชี้ ได้เปรียบทั้งค่าแรง แรงงานวัยหนุ่ม-สาว เงื่อนไขดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แถมมีเอฟทีเอแป็นแต้มต่อ เตรียมเปิดเขตเศรษฐกิจใหม่ในนครโฮจิมินห์
เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 ยังคงร้อนแรงต่อเนื่องถึงแม้หลายประเทศจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยรัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2565 ไว้ที่ 7.5% ในครึ่งปีแรกปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) เวียดนามมีการขยายตัว GDP อยู่ที่ 6.42% เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวในเดียวกันของปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 5.05%ในขณะที่ GDP ไตรมาส 3 ปีนี้ขยายตัวมากถึง 13.67% สูงสุดในรอบ 10 ปี
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามมีความเป็นห่วงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อกำลังซื้อและต้นทุนการผลิต โดยรัฐบาลเวียดนามกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ในปี 2565 อยู่ที่ 4% โดยในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อ (CPI) เฉลี่ยเวียดนาม ณ เดือน ส.ค.2565 อยู่ที่ 3.6% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบตามที่รัฐบาลเวียดนามกำหนด
สำหรับกลไกสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนาม คือ การดึงดูดลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Indirect Investment : FDI) โดยในปัจจุบันเวียดนามมีโครงการ FDI กว่า 16,300 โครงการ และคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 238 พันล้านดอลลาร์ และมีนักลงทุนจากกว่า 100 ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม และมีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ อาทิ Intel, Microsoft, Foxconn, Samsung, Sanyo, Sony, Fujitsu, Toshiba, and Panasonic
สำหรับประเทศผู้ลงทุนสะสมในเวียดนามสูงที่สุดอันดับ 1 ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้และอันดับที่ 2 ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยมีการลงทุนสะสมในเวียดนามเป็นอันดับที่ 9 จากประเทศผู้ลงทุนทั้งหมด โดยนครโฮจิมินห์เป็นแหล่งดึงดูด FDI ได้มากที่สุดในเวียดนาม คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,700 ล้านดอลลาร์ หรือ กว่า 16% ของ FDI ทั้งหมด
สุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าในต่างประเทศที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่
1.ความมีเสถียรภาพของภาคการเมือง(Socio-political stability) เนื่องจากเวียดนามปกครองรูปแบบสังคมนิยมพรรคเดียว
2.โครงสร้างประชากรวัยทำงานที่มีสัดส่วนสูงถึง 60%ถึงแม้ว่าในปัจจุบันค่าจ้างแรงงานในเวียดนามจะไม่ได้ต่ำเท่ากับอดีต เนื่องจาก FDI ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น และรัฐบาลเวียดนามปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องค่าครองชีพ อย่างไรตามเวียดนามยังมีแรงงานจำนวนมาก หากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ถึงเกือบ 100 ล้านคน
3.เวียดนามได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการค้าให้สอดคล้องรับมาตรฐานนานาชาติซึ่งเป็นผลจากการที่เวียดนามมีการลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศทำให้เวียดนามผูกพันที่ต้องปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทย FTA ที่มีผลใช้บังคับแล้ว 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ขณะที่เวียดนาม มี 16 ฉบับกับ 54 ประเทศ โดยที่ต่างจากไทย คือ EU 27 ประเทศ, อังกฤษ, EAEU และ CPTPP
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเวียดนามในประเทศต้องปรับตัวอย่างมาก แต่เวียดนามมองว่าระยะยาวจะช่วยยกระดับมาตรฐานการทำดำเนินธุรกิจของเวียดนามได้
ทั้งนี้ปัจจุบันเวียดนามกำหนดพื้นที่เขตอุตสาหกรรม (Industrial Zones หรือ IZs) และเขตเศรษฐกิจ (Economic Zones หรือ EZs) ตั้งอยู่ในพื้นที่ 61 จังหวัดจาก 63 จังหวัดของเวียดนามโดยปัจจุบันมีเขตอุตสาหกรรมกว่า 400 แห่ง มีเขตเศรษฐกิจชายแดน 26 แห่ง และเขตเศรษฐกิจชายฝั่ง 18 แห่งเป็นพื้นที่ช่วยดึงดูดการลงทุนมาในเวียดนาม และเกิดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคนิค รวมถึงพัฒนาภาคแรงงานของเวียดนาม
นอกจากนี้ เพื่อจูงใจนักลงทุน รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมาย Decree 35/2022 เกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเกี่ยวกับขั้นตอนและต้นทุนสำหรับผู้มาลงทุนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจในเวียดนาม
รวมทั้ง ล่าสุดนครโฮจิมินห์กําลังวางแผนที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจ 26,000 เฮกตาร์ทางตอนใต้ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม เขตเมือง และบริการที่เกี่ยวข้องมากมายโซนนี้ถูกรวมไว้ในร่างโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อ การส่งออก (EPZ: Export Processing Zone) ในช่วงปี 2568-2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2583
ดังนั้นโซนนี้ จะครอบคลุมทั้งเขต 7 และอำเภอหญ่าแบ่ (Nha Be) รวมไปถึงบางส่วนของอำเภอบิ่นห์ช้านห์ (Binh Chanh) และเกิ่นเหย่อ (Can Gio) พื้นที่หลักจะเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก Tan Thuan ขนาด 300 เฮกตาร์ และ 1,354 เฮกตาร์เขตเมืองท่าเรือเฮียบเฟือก (Hiep Phuoc)
ขณะที่นักลงทุนที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจมีสิทธิ์ได้รับข้อเสนอพิเศษ เช่น การยกเว้นภาษีเป็นเวลา 4 ปี ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 9 ปี สำหรับรายได้ที่เกิดจากโครงการลงทุนตามกฎระเบียบ โดยในเขตเมืองในภาคใต้ มีพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขนาดใหญ่ และกำลังการผลิต แบบบูรณาการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนพื้นที่ชายฝั่งที่ด้อยพัฒนาให้มีการพัฒนา เศรษฐกิจ นอกจากนี้ช่วยเร่งกระบวนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม และความทันสมัย และสร้างเขตเมืองที่มีคุณภาพสูง
รวมทั้งการที่นครโฮจิมินห์กำลังส่งเสริมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภาคใต้จึงมีเหตุผลที่ดีสำหรับการตั้งเขตเศรษฐกิจ โดยหน่วยงานแปรรูปและเขตอุตสาหกรรมนครโฮจิมินห์ (HEPZA) ระบุว่ามีนักลงทุนที่ต้องการเช่าที่ดินหลายเฮกตาร์เพื่อสร้างโรงงาน แต่นครโฮจิมินห์ไม่สามารถจัดหาได้ ดังนั้นเมื่อมีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ เมืองจะดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ได้