ดาวโจนส์ทะยาน 827 จุดแม้ดัชนี CPI สูงกว่าคาดการณ์
ดัชนีดาวโจนส์ปิดวันพฤหัสบดี(13ต.ค.)ปรับตัวขึ้น 827 จุด แม้สหรัฐเผยดัชนี CPI เดือนก.ย. เพิ่มสูงกว่าคาดการณ์ ซึ่งส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 827.87 จุด หรือ 2.83% ปิดที่ 30,038.72 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 92.88 จุด หรือ 2.60% ปิดที่ 3,669.91 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 232.05 จุด หรือ 2.23% ปิดที่ 10,649.15 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้นอย่างมากแม้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 8.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%
ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.6% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.5%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง
ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สหรัฐยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้ออยู่และไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงในระดับที่อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เลิกปรับขึ้นดอกเบี้ย
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐก็เพิ่งรายงานข้อมูลดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากลดลง 0.2% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 8.5% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.4% จากระดับ 8.7% ในเดือนส.ค.
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันหลังการเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนก.ย.ของเฟดบ่งชี้ว่า กรรมการเฟดแสดงความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ระดับสูง และหลายรายวิตกว่าเฟดดำเนินการน้อยเกินไปในการควบคุมเงินเฟ้อ โดยในการประชุมเดือนก.ย. เฟดลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันเพื่อพยายามที่จะลดเงินเฟ้อลงจากระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี