“สันติ”ชี้นโยบายเศรษฐกิจไม่ตอบโจทย์ แนะปรับโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม
“สันติ กีระนันทน์ ”กังวลใจกับนโยบายทางเศรษฐกิจของไทย แนะต้องมีแผนปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนไป หากไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก็ยังวนเวียนอยู่ต่อไป
วันนี้(14 ต.ค.65) นายสันติ กีระนันทน์ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทย ระบุว่า เช้านี้ ได้นำข้อมูลทางเศรษฐกิจมาดู ก็พบว่า มีเรื่องที่คิดว่าต้องนำมาชวนคุยกันเพื่อเตรียมตัวกันบ้างครับ
1. ทุนสำรองระหว่างประเทศ ตั้งแต่ มกราคม 2564 - กันยายน 2565 ค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง (จาก US$ 286,654 มาเป็น US$ 228,175)
2. ราคาน้ำมันดิบ WTI (สัญญาล่วงหน้า) เคลื่อนไหวใกล้ ๆ US$ 90/barrel
3. อัตราแลกเปลี่ยน อยู่แถว ๆ 38 บาท/ดอลลาร์ สรอ. (เมื่อคืนเคลื่อนไหวอยู่แถว ๆ 38.25 บาท/ดอลลาร์ สรอ)
ข้อมูลทั้งสามนั้น แสดงให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงต้องระมัดระวัง ราคาพลังงานยังมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง คงยังไม่ได้พ้นไปจากประเทศไทย และคงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงินคงจะต้องพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยนโยบายต่อไป (ซึ่งจะประชุมครั้งต่อไป 30 พ.ย. 65)
แม้ว่าหลายสำนักจะให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยปัจจัยหนุนสำคัญ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น หลังจากวิกฤติโรคระบาดคลายตัวลง แต่ก็มีข้อกังวลใจอยู่ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวนั้น ในบางช่วงก็ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวจีนก็คงยังไม่ได้มาเที่ยวประเทศไทย ... อาจจะเรียกได้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกเป็นหลัก
แม้ผมจะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ (โดยอาชีพ) ในฐานะของคนไทยคนหนึ่ง ก็ยังคงกังวลใจกับนโยบายทางเศรษฐกิจ คาดเดาได้ว่า ในช่วงปลายปี ก็คงจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกโดยรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอีกครั้ง (หรือหลายครั้ง) ไม่ว่าจะ ช็อปดีมีคืน ฯลฯ
แต่ผมคิดว่า สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ ต้องมีแผนในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เพราะโครงสร้างปัจจุบันนั้น ไม่น่าจะสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกที่เปลี่ยนไปอย่างมากในปัจจุบัน
นโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ออกมาแข่งขันกันนั้น มีจำนวนน้อยมากที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ และพยายามปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระดับฐานราก หรือ พัฒนาภาคเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะหากไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทางการเมือง ฯลฯ) ก็ยังวนเวียนอยู่ในประเทศต่อไป และประเทศไทยก็จะไม่สามารถเข้าสู่โอกาสการเป็นประเทศที่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง จนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในที่สุด