"เงินเยนอ่อนค่า" บีบแรงงานต่างชาติหนีญี่ปุ่น
"ปัญหาเงินเยนอ่อนค่า" บีบแรงงานต่างชาติหนีญี่ปุ่น โดยเดือนที่แล้วญี่ปุ่นเทขายสกุลเงินดอลลาร์ และซื้อสกุลเงินเยน มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อแทรกแซงตลาดค่าเงิน เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. เงินเยนของญี่ปุ่น อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ จนแตะจุดต่ำสุดในรอบ 32 ปีอีกครั้ง ทะลุระดับ 149 เยน เพราะผลพวงจากระยะห่างที่มากขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างญี่ปุ่น และสหรัฐ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตั้งเป้าลดเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ทำให้มีแนวโน้มว่าจะยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ตลาดคาดว่าจะเพิ่มอีก 0.75% ในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งได้แรงหนุนจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ (CPI) หรือเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. พุ่งสูงเกินคาดที่ 8.2%
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเทขายสกุลเงินดอลลาร์ และซื้อสกุลเงินเยน มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อแทรกแซงตลาดค่าเงิน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี โดยมีเป้าหมายชะลอเงินเยนที่อ่อนค่าไม่หยุด เพราะมองว่าจะสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจ แต่มาตรการดังกล่าวส่งผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากเงินเยนยังคงอ่อนค่าไม่หยุด
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า การอ่อนค่าไม่หยุดของเงินเยน กำลังทำให้แรงงานต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นอยู่แล้ว ไม่อยากค้าแรงงานในประเทศนี้อีกส่วนพวกที่ยังไม่เข้ามาก็ตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะไปทำงานในประเทศอื่นเพราะค่าแรงเฉลี่ยในสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงไป 40% ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งปัญหาค่าเงินเยนอ่อนยังสร้างปัญหาและความยุ่งยากอย่างมากแก่อุตสาหกรรมก่อสร้างและการดูแลผู้ป่วยหรือการพยาบาลที่จำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างชาติจำนวนมาก
บริษัทไม่แสวงหาผลกำไรแห่งหนึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงโตเกียว ซึ่งฝึกอบรมเหล่าวิศวกรที่ทำงานในโครงการก่อสร้างของเวียดนามที่ต้องการไปทำงานในญี่ปุ่นในปี 2562 ได้รับใบสมัครเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มขึ้นมากถึง5เท่า แต่ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ บริษัทเอ็มพีเค็น และเอ็นพีโอไม่คิดว่าจะมีผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรมมากเหมือนปี2562
เหตุผลหลักที่ทำให้มีแรงงานสนใจเข้ารับการฝึกอบรมน้อยลงมากเพราะการอ่อนค่าของเงินเยน โดยในช่วงสองปีมานี้ ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงไปมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับค่าเงินดองของเวียดนาม ขณะที่บรรดาวิศวกรต่างชาติในวงการก่อสร้างในญี่ปุ่นได้ค่าเหนื่อยรายเดือนอยู่ที่ประมาณ 200,000 เยน(1,375 ดอลลาร์)ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ส่วนแรงงานมีทักษะหรือความชำนาญในอุตสาหกรรมเดียวกันในเวียดนามมีค่าเหนื่อยประมาณเดือนละ 25 ล้านดอง (150,000 เยน)ต้องขอบคุณการขึ้นค่าแรงจาก10% เป็น20% ของที่นั่น
“สถานะของญี่ปุ่นในฐานะจุดหมายปลายทางของการทำงานในสายตาแรงงานต่างชาติกำลังถูกทำลายลงเรื่อยๆในเวลาอันรวดเร็วเพราะช่องว่างของค่าจ้างแรงงานเริ่มแคบลง” บี มินห์ นัต จากบริษัทเอ็มพีเคน กล่าว
ขณะที่แรงงานชาวฟิลิปปินส์วัย 23 ปีคนหนึ่งซึ่งในฤดูใบไม้ผลินี้จะเริ่มไปทำงานดูแลคนป่วยตามบ้านในจังหวัดกุมมะ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียวส่งเงิน 30,000 เยน หรือ 15% ของค่าจ้างในแต่ละเดือนแก่ครอบครัวที่ฟิลิปปินส์ เริ่มมีความกังวลมากขึ้นว่าเงินที่จะส่งกลับบ้านจะมีมูลค่าลดลงมาก
“เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่าอย่างมาก จึงมีแรงงานต่างชาติมากขึ้นเลือกที่จะไปทำงานในออสเตรเลียและประเทศอื่นๆที่พูดภาษาอังกฤษและมีค่าจ้างแรงงานสูงกว่า”เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสมาคมสำนักงานที่ได้รับใบอนุญาตสำหรับโครงการฝึกอบรมทางเทคนิคของฟิลิปปินส์ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดหางานในต่างประเเทศแก่แรงงานชาวฟิลิปปินส์ กล่าว
ค่าจ้างแรงงานในญี่ปุ่นลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และถ้ายึดตามอัตราแลกเปลี่ยนในเดือน ก.ย. ค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานชาวญี่ปุ่นในปีงบการเงิน 2563 และ 2564 จะต่ำกว่าปีงบการเงิน 2565 อยู่ประมาณ 40%
ค่าจ้างแรงงานในเวียดนามและฟิลิปปินส์ในทุกวันนี้ ยังถือว่าอยู่ในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับแรงงานในญี่ปุ่น ถ้าการจ่ายค่าแรงเฉลี่ยบนพื้นฐานดอลลาร์สหรัฐในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในญี่ปุ่นมีค่าดัชนีอยู่ที่ 100 ค่าจ้างในฮานอยและมะนิลาจะอยู่ที่ 20-30 แต่ค่าจ้างของอาชีพวิศวกรในอุตสาหกรรมก่อสร้างและคนงานดูแลคนป่วยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 50-70 แล้วทั้งในกรุงฮานอยและกรุงมะนิลา
เมื่อปี 2564 ญี่ปุ่นมีแรงงานต่างชาติจำนวน 1.72 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของจำนวนแรงงานในวัยทำงานโดยรวมและมากกว่าแรงงานก่อนหน้านี้ 2.5 เท่า โดยมีแรงงานชาวจีนเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่สุดแต่ในปี 2563 เปลี่ยนเป็นแรงงานชาวเวียดนาม ส่วนแรงงานจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อาทิ เนปาล กำลังเพิ่มมากขึ้น แต่ความน่าดึงดูดใจของญี่ปุ่นในฐานะประเทศจุดหลายปลายทางในการทำงานของแรงงานต่างชาติกลับลดลงเรื่อยๆจากปัญหาเงินอ่อนค่าและค่าแรงในประเทศอื่นๆกลับเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมก่อสร้าง “งานที่ไซต์ก่อสร้างต่างๆต้องหยุดไว้ก่อนจนกว่าค่าจ้างแรงงานจะเพิ่มขึ้น” โชโก อิวาตะ หัวหน้า Japan Reinforcement Contractor's Association กล่าว โดยแรงงานต่างชาติมีสัดส่วนประมาณ 20% ของกลุ่มแรงงานที่เชี่ยวชาญด้านเหล็กเสริมคอนกรีต
ขณะที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ประเมินว่า จำเป็นต้องมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น 5 ล้านคน ภายในปี 2583 หากว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้า
วานนี้ (17 ต.ค.) ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นกำลังเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น และบีโอเจจำเป็นต้องคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (Ultralow Interest Rate Policy) ต่อไป เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง
คุโรดะ แสดงความเห็นดังกล่าวในระหว่างการแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยยืนยันถึงการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำแม้ว่านโยบายดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์