จาก "ฤดูหนาว" สู่ "ฤดูฝุ่นพิษ" | ธราธร รัตนนฤมิตศร
ตื่นเช้ามา สิ่งแรกที่หลายคนทำในฤดูนี้คือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กค่าฝุ่นในอากาศ ก่อนจะเตรียมหน้ากากอนามัยหากต้องออกไปนอกบ้าน บ้านที่มีฐานะหน่อยก็เปิดเครื่องกรองอากาศให้พร้อมทำงานยามค่ำคืน และอาจโพสต์บ่นเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นพิษลง Facebook เพื่อระบายความอึดอัดใจ
ปรากฏการณ์เหล่านี้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของคนไทยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วง “ฤดูฝุ่นพิษ” ซึ่งค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มักพุ่งสูงจนเกินมาตรฐานความปลอดภัย ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพกายและใจ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปีคือการเกิด “ฤดูฝุ่นพิษ” โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจและหลอดเลือดของมนุษย์อย่างชัดเจน
จากข้อมูลปี 2566 ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ของประเทศไทยอยู่ที่ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดถึง 4.7 เท่า
กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวง ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดอันดับที่ 37 ของโลก ขณะที่จังหวัดเชียงรายและอำเภอปายในแม่ฮ่องสอน ติดอันดับ 5 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.ซึ่งค่าฝุ่น PM 2.5 ใน จ.เชียงใหม่พุ่งสูงถึง 53.4 ถึง 106.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีสาเหตุที่ซับซ้อนและหลากหลาย แบ่งออกเป็น 2 แหล่งกำเนิดหลัก ได้แก่ มลพิษจากแหล่งกำเนิดภายในประเทศและแหล่งกำเนิดภายนอกประเทศ ภายในประเทศนั้น การคมนาคมขนส่ง การเผาไหม้เศษวัสดุทางการเกษตร และการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมเป็นต้นเหตุสำคัญ
โดยเฉพาะในเขตเมืองที่การจราจรติดขัดและยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยมลพิษในปริมาณมาก ส่วนในชนบท การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรและไฟป่าเป็นสาเหตุหลัก
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากมลพิษข้ามพรมแดน เช่น ควันจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกลมพัดเข้าสู่ประเทศในช่วงฤดูแล้ง
ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
ในปี 2566 มีรายงานว่าจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเดินหายใจและมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นจาก 900,000 คนในปี 2565 เป็น 2.2 ล้านคนในปี 2566 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการสูญเสียแรงงานจากการเจ็บป่วย ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องแบกรับภาระที่หนักหน่วง
งานวิจัยหลายชิ้นได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเน้นไปที่ “การจัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิด” ตัวอย่างเช่น การควบคุมการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะผ่านการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยมลพิษ
การลดการเผาในที่โล่งด้วยการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรแทนการเผา รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบบำบัดอากาศและการปลูกต้นไม้ในเขตเมืองเพื่อช่วยดูดซับมลพิษ
ตัวอย่างการดำเนินการในประเทศไทย เช่น โครงการ “Zero Burning” จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายลดการเผาไหม้เศษวัสดุทางการเกษตร แม้โครงการนี้จะช่วยลดค่าฝุ่น PM2.5 ได้ในช่วงเดือนที่กำหนด แต่ปัญหายังคงดำเนินต่อไปเมื่อหมดช่วงเวลาห้ามเผา
นอกจากนี้ ในกรุงเทพฯ มีมาตรการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ผลลัพธ์คือค่าฝุ่น PM2.5 ในบางพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังคงต้องการการปรับปรุงและการขยายผลในระยะยาว
เมื่อมองไปยังต่างประเทศ เมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและนิวยอร์กได้แสดงให้เห็นว่าการลดมลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ปักกิ่งสามารถลดค่าฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 44% ในช่วงระหว่างปี 2557-2565 ผ่านมาตรการที่เข้มงวด เช่น การควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานและยานพาหนะ
ในขณะที่นิวยอร์กใช้กลยุทธ์การพัฒนาเมืองที่เน้นความยั่งยืนและการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เมือง ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมืองเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้
ในแง่นโยบาย ประเทศไทยควรปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษทางอากาศและเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้ ตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดสำหรับการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรใช้วิธีการทำเกษตรที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะช่วยลดผลกระทบจากมลพิษข้ามพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากการดำเนินมาตรการทางกฎหมายแล้ว การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่น PM2.5 และการส่งเสริมพฤติกรรมที่ลดการสร้างมลพิษ
ปัญหาฤดูฝุ่นพิษ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยมีงานวิจัยมากมายที่ทำให้เราทราบถึงสาเหตุและวิธีการแก้ไขปัญหาได้ เราเห็นการดำเนินการที่สำเร็จในหลายประเทศที่สามารถจัดการให้คุณภาพอากาศดีขึ้นมาได้
ดังนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่การรวมพลังในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง การลงทุนในเทคโนโลยีที่สะอาด การออกกฎหมายอากาศสะอาดที่สอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัย และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ได้
โดยเฉพาะหากรัฐบาลจะเป็นผู้นำที่จริงจังในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับประชาชน เพื่อนำฤดูหนาวที่อากาศสดชื่นกลับคืนมาให้กับคนไทย.