จะขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างไร? (ตอนที่ 2)
ตอนที่แล้ว ผู้เขียนกล่าวถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การสร้างทักษะและการวางแผนกำลังคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนไทยให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและเติบโตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นอกจากปัจจัยดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก คือการปรับเปลี่ยนหรือสร้างให้เกิดระบบนิเวศน์ หรือ Ecosystem ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นๆ ซึ่งจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่อาจจะยังไม่เคยมีในประเทศให้เกิดมีขึ้น หรืออุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมแล้ว เจริญเติบโตและสามารถปรับตัวได้รวดเร็วเท่าทันกับภาวะการแข่งขันและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
ระบบนิเวศน์ของธุรกิจหนึ่งๆ โดยหลักแล้วจะประกอบไปด้วยตัวผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการเองลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง และภาครัฐ เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด ที่พึ่งพาทั้งการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการสูง ผู้ผลิตและผู้ให้บริการของไทย ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง และภาครัฐ จึงถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลก
ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีและพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงกฎกติกาของการค้าการลงทุนในโลกก็ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 จะทำให้ทุกประเทศต้องหันมาทบทวนการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนรวมถึงการเอาตัวรอดภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจ โลกาภิวัตน์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ความสามารถในการปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งภาครัฐ คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศต้องการ
อันที่จริงดูเหมือนภาครัฐจะเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวทางธุรกิจและการลงทุนอยู่เช่นกัน หนึ่งในระบบนิเวศน์ที่สำคัญ ได้แก่ กฎหมายกฎระเบียบภาครัฐ ตลอดจนกระบวนการอนุมัติอนุญาตต่างๆ โดยรัฐได้ทำการศึกษาเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย หรือที่เรียกว่า Regulatory Guillotine
ในช่วงปี 2561-2562 โดยได้ทดลองศึกษากฎหมาย 1,094 กระบวนงาน จาก 16 กระทรวง 47 กรม และเห็นว่ามีถึง 1,026 กระบวนงาน ที่ต้องได้รับการปรับปรุงหรือแก้ไข เนื่องจากกฎระเบียบล้าสมัย ไม่จำเป็น หรือเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของภาคเอกชน โดยผลการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกในการจ้างงานคนต่างด้าวและการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมนวัตกรรม การอำนวยความสะดวกในการส่งออกนำเข้าสินค้า การอนุญาตที่ล้าสมัย และการส่งเสริม SME
(2) กลุ่มการลดปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ การท่องเที่ยว การค้าปลีกการศึกษาเอกชน การแพทย์ และอสังหาริมทรัพย์
และ (3) กลุ่มการส่งเสริมการประกอบอาชีพของผู้ด้อยโอกาส โครงการศึกษาดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามต่อไป คือความจริงใจที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ โดยการนำผลการศึกษาไป ‘กิโยติน’ กฎหมายและกระบวนงานจริง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศน์ด้านกฎหมายที่จะสนับสนุนศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศได้อย่างแท้จริง
ในปี 2563 เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย และประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย ของประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และออสเตรเลีย ได้นำส่งเอกสารที่ชื่อว่า ‘Ten for Ten’ ถึงรัฐบาลไทย เป็นข้อเสนอ 10 ข้อที่จะทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 อันดับแรกของ Ease of Doing Business Index ของธนาคารโลก
ข้อเสนอแนะในเอกสารดังกล่าว ล้วนเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการการนำเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ simplify กระบวนการนำเข้าและส่งออกสินค้า การลดกระบวนการที่ซ้ำซ้อนด้านการอนุมัติอนุญาตของหน่วยงานรัฐ การเพิ่มแพลตฟอร์ม E-Government การลดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขการขอรับการส่งเสริมการลงทุน
การจัดทำฐานข้อมูลผู้นำเข้าส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงและการตรวจสอบทางศุลกากร (Account-based Customs Processing) การพิจารณาแก้ไขปัญหาแรงงานทักษะสูง ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ชำนาญการ การปรับปรุงกระบวนการภายใต้กฎหมายล้มละลาย และการปรับกระบวนงานขององค์การอาหารและยา (อย.) หรือการยอมรับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (E-Signature) เป็นต้น
ความจริงภาครัฐของไทยทราบถึงประเด็นต่างๆ เหล่านี้อยู่แล้ว และได้มีการริเริ่มการทำงานเพื่อปรับปรุงระบบนิเวศน์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) มีกรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาและเชื่อมระบบเอกสารการอนุมัติอนุญาตระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาระบบ Port Communication System (PCS) ซึ่งมีการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการบริหารโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าทางเรือ รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบ NSW เพื่อให้เกิดการสื่อสารแบบไร้รอยต่อระหว่างรัฐกับรัฐ รัฐกับเอกชน และ เอกชนกับเอกชน
การพัฒนาระบบ Smart Visa และล่าสุดคือ Long Term Residence Visa ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นเจ้าภาพ การอำนวยความสะดวกด้านการอนุมัติอนุญาตโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตัล ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เป็นเจ้าภาพ เป็นต้น โครงการเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญ และต้องได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและบูรณาการเพื่อให้ระบบสมบูรณ์และใช้ได้โดยเร็ว
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นระบบนิเวศน์สำคัญที่จะช่วยเสริมการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่สิ่งที่ยังต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังต่อไปอีก คือการเจาะลึกลงไปในนโยบาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ใน
ปัจจุบัน มีทั้งที่ต้อง ‘กิโยติน’ ปรับปรุงให้ทันสมัย และที่ยังไม่มีแต่ ‘ต้องมี’ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในกฎกติกา บางเรื่องอาจจะทำได้เร็วโดยอาศัยการศึกษาไม่มาก แต่หลายๆ เรื่องอาจต้องมีพื้นที่ทดสอบทดลอง (Regulatory Sandbox) เพื่อปรับกฎกติกาให้มีความเหมาะสมและสมดุลกับสภาวะแวดล้อมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นๆ รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค
ผู้เขียนเห็นว่านโยบายและกฎกติกาที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วนในระยะอันใกล้นี้เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ด้านพลังงาน ด้านอาหารแห่งอนาคต และด้านอุตสาหกรรมการแพทย์
แนวคิดของการทำ Regulatory Sandbox ที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายนี้ ได้ถูกบรรจุไว้ในพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 แล้ว ที่เหลือคงเป็นเรื่องของการปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง เริ่มต้นจากความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้นำองค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีวิสัยทัศน์มีความเข้าใจในระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นๆ และมีความสามารถที่จะนำพาแนวคิดของการปฎิรูปไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่ทิ้งเรื่องการพัฒนาระบบนิเวศน์ต่างๆ ให้เป็นแต่เพียงข้อเสนอแนะและรายงานการศึกษาเท่านั้น