"เอลเครม" เผย DeFi โลกอนาคตสู่การเงิน แนะ จับตา 4 ความเสี่ยง ระวังก่อนลงทุน
แม้เทรนด์ทำธุรกรรมทางการเงินกำลังเปลี่ยนไป จากเดิมผ่านช่องทาง Online banking ก้าวสู่โลกแห่ง “ฟินเทค” (Finance Technology) ที่ทําให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและใช้บริการธนาคารหรือศูนย์บริการทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต หรือสมาร์ทโฟนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกรรมกู้ยืมเงินเงินดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Decentralized Finance หรือ DeFi จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในอนาคตให้แก่นักลงทุนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นก็ตาม
บริษัท เอลเครม แคปปิตอล จำกัด หรือ ELKREM CAPITAL เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการทั้งธุรกิจขนาดกลาง-รายย่อย ผู้ประกอบการ SME ต้องประสบกับปัญหาการเข้าถึงเงินทุนทางธุรกิจ เนื่องจากเกณฑ์การพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด ฉะนั้นแล้ว DeFi จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการเงินได้ง่ายขึ้น
จากผลสำรวจของ Mambu ผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินบนแพลตฟอร์มคลาวด์ (Cloud Banking Platform) พบว่า ในช่วงที่ทางเลือกด้านการให้บริการสินเชื่อมีเพิ่มขึ้น และเป็นช่วงที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจไทยหันไปใช้บริการธนาคารทางเลือก และฟินเทค เพื่อแก้ปัญหาด้านการเข้าถึงเงินทุนต่างๆ เช่น เกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และขั้นตอนการพิจารณาที่มีความยุ่งยาก
ขณะที่ข้อมูลการขอสินเชื่อ SME ไทย จากสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้สำรวจภาระหนี้และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs จาก 805 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น ขนาดเล็ก 84.7% ขนาดกลาง 9.45% และขนาดใหญ่ 5.85% พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนมาก 99.59% ขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ และเป็นการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ของเอกชนกว่าร้อยละ 53.78 โดยที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ของเอกชนจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ 8.25% จนถึง 17.25 และข้อจำกัดของวงเงินกู้ยืม
แม้ว่าการขอสินเชื่อจะมีข้อจำกัด แต่กลับพบว่า สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลับมียอดคงค้างสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา จนถึงช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มียอดเงินคงค้างกว่า 3.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นราว 100,000 ล้านดอลลาร์
ดังนั้นปัญหาการเข้าถึงเงินกู้ของประชาชนนั้นเริ่มเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้น พร้อมกับเทรนด์ของการใช้บริการธนาคารทางเลือกและฟินเทคมากขึ้นเป็นตัวกระตุ้นการเข้าถึงเงินกู้ได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจากทั่วมุมโลก โดยไม่ต้องมีเอกสาร ไม่ต้องมีการยืนยันข้อมูลความเป็นส่วนตัว ด้วย “Smart Contract” ที่ตรงไปตรง ตามสมการคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงบนแพลตฟอร์มDeFi ที่อยู่บนบล็อกเชน
การทำงานของ DeFi
DeFi คือการให้บริการทางการเงินแบบใหม่ เปรียบเหมือนเป็นธนาคารที่ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบบล็อกเชน ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการแลกเปลี่ยน กู้ยืม หรือ บริการอื่นๆได้ ซึ่งผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นคนต้องการแลกเปลี่ยนเงิน คนฝาก คนกู้ สามารถมาทำธุรกรรมร่วมกันผ่านสิ่งที่ เรียกว่า “Smart Contract” หรือ สัญญาอัจฉริยะ ที่มีการสร้างเงื่อนไข โดยแนวคิดนี้ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า “Smart Contract where code is law” โดยไม่ต้องขึ้นตรงกับตัวกลางไหน
หลักการทํางานของ DeFi เริ่มจากผู้ฝากที่ทําหน้าที่เป็นผู้ปล่อยกู้ (Lender) ที่น่าสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีที่มีไปฝากกับ Decentralized Platform เพื่อปล่อยสภาพคล่องให้กับแพลตฟอร์มนั้น (Deposit Assets) และเมื่อมีคนต้องการกู้ยืมที่เป็น Borrower ต้องการสภาพคล่องก็สามารถมากู้ยืมสินทรัพย์นั้นได้โดยก็ต้องมีสินทรัพย์มาค้ำประกันกับทาง แพลตฟอร์มเพื่อเป็นข้อตกลงว่าถ้าหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะต้องสูญเสียสินทรัพย์ที่ค้ำประกันไป หรือที่เรียกว่า Liquidation นั่นเอง
โดยดอกเบี้ยหรือหนี้ที่เก็บจากผู้กู้นั้นก็จะถูกส่งผ่านตัวแพลตฟอร์มและส่งไปเป็นผลตอบแทนให้แก่ผู้ปล่อยกู้ (Yields interest) ซึ่งอัตราดอกเบี้ย หรือ ผลตอบแทนจะขยับตาม กฏของ Demand Supply ของสินทรัพย์นั้น หรือ เราเรียกว่า “Utility rate” นั่นเอง สิ่งที่ทําให้ DeFi พิเศษกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมก็ทุกการเคลื่อนไหวบนบล็อคเชนนั้นสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด และถูกควบคุมด้วย Smart Contract
4 ความเสี่ยงแพลตฟอร์ม DeFi
ปัจจุบันแพลตฟอร์ม DeFi ทั่วโลกมีผู้ใช้งานเกือบ 5 ล้านคนใน 1 เดือน เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สะท้อนถึงอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นสิ่งสำคัญที่พิสูจน์ให้เห็นว่าจํานวนการใช้บริการทางการเงินรูปแบบ ใหม่นั้นกำลังเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะ
“Maker” แพลตฟอร์ม DeFi สร้างโปรเจกต์ที่น่าจับตามองครั้งใหญ่โดยการนำคริปโทเคอร์เรนซีมาเชื่อมเข้ากับสินทรัพย์ในโลกจริง ( Real World Asset) ทําให้เกิดการแลกเปลี่ยนหรือกู้ยืมสินทรัพย์ระหว่างโลกดิจิทัลและโลกจริงได้ ซึ่ง Maker ได้จับมือกับ ธนาคาร Huntingdon Valley Bank ในตัวเมืองเพนซิลเวเนียในสหรัฐ เพื่อให้เกิดการทำธุรกรรมระหว่าง สินทรัพย์ดิจิทัลและสินทรัพย์ในโลกจริงได้สะดวกขึ้น
แน่นอนว่าการเข้ามาของ DeFi อาจจะทำให้ผู้กู้นั้นสามารถเข้าถึงได้ง่ายมาก เพียงแค่มีการใช้อินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้สะดวกจากที่ไหนก็ได้ แต่ก็ใช่ว่าการมาของ DeFi จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เทคโนโลยีก็ต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต ซึ่งยังคงมี 4 ความเสี่ยงในการใช้งาน DeFi เช่นกัน คือ 1.ความไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา Wallet ที่ค่อนข้างยุ่งยาก 2.ความไม่รู้เกี่ยวกับการเข้าเว็บไซต์ที่มีโอกาสเป็นเว็บหลอกเก็บข้อมูล 3.ความไม่รู้เกี่ยวกับการเลือกใช้ Decentralized platforms ที่มีคุณภาพ และ4.ความเสี่ยงเกี่ยวกับช่องโหว่ Smart Contract ของแพลตฟอร์ม