'กรมราง' เปิดแผนโมโนเรลสีชมพู - เหลือง เตรียมเปิดให้ประชาชนนั่งฟรี ธ.ค.นี้
“กรมการขนส่งทางราง” กางแผนโมโนเรลสายสีชมพู - เหลือง เตรียมเปิดทดลองให้ประชาชนนั่งฟรีแบบเฉพาะกลุ่ม ธ.ค.นี้ ก่อนเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร ก.พ.2566 เคาะราคาเริ่มต้น 15 - 45 บาท กำชับเอกชนดันนโยบายตั๋วร่วม ต้องติดตั้งระบบรองรับจ่ายบัตร EMV
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงแผนเปิดให้บริการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี โดยระบุว่า จากการหารือล่าสุดร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และตัวแทนภาคเอกชนผู้รับสัมปทาน บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ได้ข้อสรุปว่าจะมีการเร่งรัดก่อสร้าง และทดสอบระบบตามแผน เพื่อเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งในเดือน ธ.ค.นี้
โดยแผนเปิดให้ประชาชนทดลองนั่ง จะดำเนินการคล้ายกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนทดลองใช้บริการเป็นกลุ่ม อาทิ สถาบันการศึกษา หน่วยงาน หรือกลุ่มประชาชนที่สนใจ สามารถติดต่อลงทะเบียนขอทดลองใช้บริการได้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเป็นการทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่จะเปิดให้บริการเป็นบางส่วน (Partial) และมีกำหนดให้บริการแบบเก็บค่าโดยสารประมาณเดือน ก.พ.2566
สำหรับแผนเปิดให้บริการแบบ Partial เบื้องต้นแบ่งออกเป็น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง จะเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงสถานีสำโรง - สถานีภาวนา ส่วนสถานีลาดพร้าวนั้น ขอพิจารณาอีกครั้งว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ทันตลอดทั้งเส้นหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันทางผู้รับจ้างอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการก่อสร้าง ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการตั้งแต่สถานีมีนบุรี - สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ยกเว้นสถานีนพรัตน์ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ จากนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการตลอดสายครบทุกสถานีราว ก.ค.2566
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องคำนวณจากดัชนีผู้บริโภค (CPI) โดยขณะนี้หากคำนวณตามสูตรในสัญญาสัมปทานก่อนเปิดให้บริการประมาณ 30 วัน การคำนวณคร่าวๆ ในเดือน ก.ย.2565 อัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 15-45 บาทตามระยะทาง ส่วนจะมีบัตรโดยสารพิเศษ เช่น บัตรรายเดือน บัตรนักเรียน หรือบัตรผู้สูงอายุ รวมถึงโปรโมชั่นพิเศษใดๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้ประชาชนหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างพิจารณา
ในส่วนของการผลักดันระบบตั๋วร่วมตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมนั้น กรมฯ และ รฟม. ได้สั่งการให้ผู้รับสัมปทานพัฒนาหัวอ่านที่รองรับบัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) ได้ด้วย เนื่องจากปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะหลายประเภทได้พัฒนาระบบหัวอ่าน EMV เพื่อบริการประชาชนใช้เป็นเสมือนตั๋วร่วมขนส่งอยู่แล้ว อีกทั้งผู้รับสัมปทานจะเปิดให้ผู้โดยสารสามารถนำบัตรแรบบิท (Rabbit) ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นตั๋วร่วมโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว, รถไฟฟ้าสายสีทอง และรถโดยสาร BRT มาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูด้วย