บทเรียน ตปท. สร้างโอกาส SME เข้าถึง ตลาดจัดซื้อจัดจ้างเอกชน | วาระทีดีอาร์ไอ
มีคนกล่าวว่า “โอกาสมีอยู่เสมอ สำหรับคนที่มองเห็น” แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในโลกความเป็นจริง มีคนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะ SME ที่ยังไม่มีโอกาสได้เห็นแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของโอกาสทางธุรกิจ
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และทีดีอาร์ไอ จึงได้ร่วมกันศึกษาแนวทางสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ SME ได้เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (Corporate Procurement)
และพบว่าสหราชอาณาจักรมีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจในการใช้กลไกการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมาเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้ SME เข้าถึงห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ได้มากขึ้น
กลไกนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนที่กรุงลอนดอนได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ. 2012 โดยมีแม่งานคือ London Development Agency (LDA) และ Olympic Delivery Authority (ODA) ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ CompeteFor
เพื่อให้ SME ได้มีโอกาสขายสินค้า/บริการของตนให้แก่ทั้งแม่งานและธุรกิจที่เป็นคู่สัญญารับงานจากแม่งาน รวมถึงโอกาสรับเหมาช่วงจากธุรกิจที่เป็นคู่สัญญารับงานจากแม่งาน
โดยเริ่มจากโครงการก่อสร้าง เช่น โครงการก่อสร้างสนามกีฬา ที่พักสำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ เป็นต้น และต่อมาได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมการจัดซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ ด้วย เช่น อุปกรณ์ปฐมพยาบาล บริการขนส่ง รวมถึงการจ้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก
แพลตฟอร์ม CompeteFor อำนวยความสะดวกให้ธุรกิจทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดย
(1) เปิดเผยรายชื่อคู่สัญญาหลักของภาครัฐ
(2) รวมศูนย์ข้อมูลความต้องการจัดหาสินค้าและบริการ
(3) ขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย
(4) คัดกรองผู้ขายเบื้องต้น ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายที่สนใจใช้บริการต้องสมัครลงทะเบียน โดยกรอกข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อผู้ติดต่อ ที่อยู่ ประเภทหน่วยงาน หมวดอุตสาหกรรม จำนวนพนักงาน รายได้ต่อปี ฯลฯ
จุดเด่นอย่างแรกของ CompeteFor คือมีบริการสร้างแบบสอบถามให้ผู้ซื้อเลือกใช้ได้สองแบบคือ แบบสอบถามมาตรฐานและแบบสอบถามที่ผู้ซื้อสามารถตั้งคำถามได้เอง (customized) ซึ่งตั้งคำถามได้สูงสุด 25 คำถาม และเลือกให้ตอบได้ทั้งแบบปลายปิด (closed) หรือแบบมีหลายคำตอบให้เลือก (multiple choice)
นอกจากนี้ ผู้ซื้อสามารถกำหนดคะแนนสำหรับคำถามแต่ละข้อได้เอง โดยระบบจะนำข้อมูลและคำตอบที่ได้ จากผู้ขายแต่ละรายไปคำนวณคะแนนจนได้เป็นรายชื่อผู้ขายที่ผ่านการคัดกรอง ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบ long-list และ short-list
ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการประมวลผลโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเพื่อลดการใช้ดุลพินิจ จากนั้นระบบจะแจ้งไปยังผู้ขายแต่ละรายที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์จากผู้ซื้อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกในขั้นต่อไป
ผู้ซื้อมีทางเลือกว่าจะขอให้ผู้ขายเสนอราคาผ่าน CompeteFor หรือจะติดต่อให้ผู้ขายเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของผู้ซื้อโดยตรงก็ได้
จุดเด่นต่อมาของ CompeteFor คือมีการรวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุมในทุกลำดับชั้นของการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่คู่สัญญาหลักกับภาครัฐ ไปจนถึงคู่ค้าลำดับแรก ลำดับสอง และลำดับอื่นๆ ซึ่งสามารถสืบค้นได้อย่างง่ายดาย ทำให้ SME มีโอกาสได้งานมากขึ้นจากทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่และ SME ด้วยกันเอง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ CompeteFor ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ มีคณะทำงานประสานงานใกล้ชิดกับผู้ซื้อ (Buying Engagement Team หรือ BET) ทำให้ผู้ซื้อประกาศข่าวการจัดซื้อจัดหาของตนผ่านแพลตฟอร์มกลางแห่งนี้ โดย BET ยังทำหน้าที่สำคัญอื่นๆ
ได้แก่ การตรวจสอบและติดตามการประกาศงานจัดซื้อของ Tier One Supplier (Main contractor) บนแพลตฟอร์ม CompeteFor ทั้งหมด และให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก จัดอบรม จัดทำเอกสารการใช้งานให้กับธุรกิจที่ใช้งานแพลตฟอร์ม ทั้งฝั่งที่เป็นผู้ซื้อและผู้ขาย
รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์มในเชิงรุกเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายให้เข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์ม และการรายงานผลการดำเนินงานต่อ London Development Agency (LDA) ผ่าน Olympic Delivery Authority (ODA)
Olympic Delivery Authority (ODA) ใช้กลยุทธ์ในการเปิดประมูล เพื่อคัดเลือกบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ BET โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก เน้นการทำการตลาดเพื่อเชิญชวนให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้ามาลงทะเบียนใช้งานระบบให้มากที่สุด
ระยะที่สอง เน้นการปรับปรุงให้ระบบใช้งานง่ายเพื่อรักษากลุ่มฐานผู้ใช้งานเดิมไว้ โดยอาศัยข้อมูลที่ผู้ใช้งานสะท้อนกลับ มา (feedback) ที่รวบรวมได้ในระยะแรก รวมถึงการทำให้ระบบมีความยั่งยืนด้วยการหาผู้ซื้อรายใหม่ เข้ามาใช้งาน
เช่น ปี 2020 BET ประสบความสำเร็จในการทำให้ Tideway คู่สัญญาหลักที่ชนะการประมูลโครงการปรับปรุงระบบอุโมงค์ระบายน้ำกรุงลอนดอน และ East West Rail Alliance คู่สัญญาหลักของรัฐที่ชนะการประมูลโครงการบำรุงรักษาทางรถไฟในเขตลอนดอน จัดหาซัพพลายเออร์ผ่านแพลตฟอร์มนี้
Olympic Delivery Authority (ODA) ได้สรุป 3 บทเรียนสำคัญจากการพัฒนา CompeteFor ไว้ ซึ่งประเทศไทยอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ หากสนใจนำแนวคิดนี้มาใช้ คือ
1) การมีผู้ซื้อหลายลำดับชั้น (Tier) ในจำนวนที่มากพอมีผลต่อความอยู่รอดของแพลตฟอร์ม
2) การมีคณะทำงานเพื่อประสานงานฝั่งผู้ซื้อ (BET) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะลำพังการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดทำแพลตฟอร์มรวมศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเดียวไม่เพียงพอ
3) แพลตฟอร์มกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการรับเหมาช่วง และสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายทั้งหมด หรือที่เรียกว่า “ตัวทวีคูณของการแข่งขันในการจัดซื้อจัดจ้าง” (multiplier effect to procurement competitions)
ลักษณะแพลตฟอร์มตามแบบของสหราชอาณาจักรนี้ ได้มีการนำไปปรับใช้ในช่วงการจัดงาน Expo 2020 ซึ่งทำให้รัฐบาลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ผู้จัดงาน) ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาการสนับสนุน SME จากหน่วยงานระหว่างประเทศด้านการส่งเสริมการบริหารการจัดซื้อ (Chartered Institute of Procurement & Supply: CIPS)
ประเทศไทยเองก็มีตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน ที่เชื่อมโยงกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแบบ B2B2G อยู่ไม่น้อย หากมีการนำโมเดลการพัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม CompeteFor ของสหราชอาณาจักรมาปรับใช้ น่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ SME ได้อีกมาก
หมายเหตุ: รายละเอียดเพิ่มเติมใน https://tdri.or.th/2022/08/corporate-procurement/
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความสร้างโอกาสให้แก่ SME ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนภายใต้การศึกษา เรื่อง "แนวทางการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (Corporate Procurement)"
โดย ทีดีอาร์ไอ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในตอนต่อไปจะเป็นการนำเสนอแนวทางการส่งเสริมให้ SME เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน
คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ
เทียนสว่าง ธรรมวณิช
ยศ วัชระคุปต์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)