การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและทิศทางอนาคต | ธราธร รัตนนฤมิตศร
ในระบบเศรษฐกิจ นอกจากผู้บริโภคจะหมายถึงประชาชนและภาคเอกชนแล้ว ภาครัฐนับเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดที่มีบทบาทสำคัญในหลายเรื่อง ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจไปจนถึงการปรับทิศทางนโยบายของประเทศ
ในกรณีต่างประเทศ ภาครัฐมักจะเป็นตัวเริ่มต้นเมื่อต้องการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่สำคัญ เมื่อต้องการปรับเส้นทางนโยบายเพื่อสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภาครัฐก็ใช้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) เป็นเครื่องมือ
โดยการปรับเปลี่ยนยานยนต์ที่ภาครัฐใช้ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากให้กลายเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งช่วยส่งสัญญาณให้กับประเทศว่าจะไปในทิศทางนี้ชัดเจนและช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ
กรณีหากภาครัฐต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ภาครัฐสามารถใช้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นเงื่อนไขการซื้อสินค้าและบริการที่ใช้ในภาครัฐให้เป็นสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมดได้
ด้วยขนาดการบริโภคที่ใหญ่ภาครัฐในแต่ละปี การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจึงนับเป็นเครื่องมือในเชิงนโยบายที่สำคัญ ที่จะปรับทิศทางของประเทศไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
แต่ในทางตรงกันข้าม หากนโยบายของรัฐบาลประกาศทิศทางที่สำคัญไว้อย่างหนึ่ง แต่ภาครัฐไม่ได้ขยับการจัดซื้อจัดจ้างให้ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน ก็นับเป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงว่าภาครัฐยังไม่ได้มีความมุ่งมั่น (Political Will) เพียงพอที่จะดำเนินการอย่างจริงจังกับทิศทางที่ประกาศไว้นัก
ซึ่งอาจทำให้ภาคเอกชนและประชาชนชะลอดูสถานการณ์ไปก่อน ทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้นตามนโยบายที่ประกาศ
ทั้งนี้ เมื่อมองไปในอนาคต ทิศทางหลักของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของโลกโดยรวมกำลังขับเคลื่อนไปใน 5 ทิศทาง ดังนี้
ทิศทางแรก การจัดซื้อจัดจ้างดิจิทัล (Digital Procurement) ตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จนไปถึงการบูรณาการระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐดิจิทัลกับระบบดิจิทัลอื่นๆ
ทั้งในด้านงบประมาณ การลงทะเบียนธุรกิจและภาษี ฐานข้อมูลประกันสังคม ระบบการเงินภาครัฐ และการวางแผนทรัพยากรองค์กร รวมถึงการเชื่อมโยงกับตลาด E-commerce เพื่อเข้าสู่การแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นและขับเคลื่อนสู่ภาครัฐดิจิทัลที่สมบูรณ์
ทิศทางที่สอง การจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainable Procurement) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกำหนดให้ผู้เสนอราคาสำหรับสัญญากับภาครัฐที่มีมูลค่าสูงกว่า 5 ล้านปอนด์จะต้องแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
กรณีประเทศเยอรมนี วางเป้าหมายว่าการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐจะต้องเป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ (Climate-Friendly) โดยคณะรัฐมนตรีได้ใช้ระเบียบการบริหารใหม่ คือการกำหนดรายการสิ่งที่ไม่ควรซื้อ (Negative list of what not to buy) เพื่อให้เป็นเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐต่อไป
เช่น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง เครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง เครื่องทำความร้อนกลางแจ้งและเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นบางชนิด เป็นต้น
ทิศทางที่สาม ความปลอดภัยไซเบอร์ในห่วงโซ่อุปทานการจัดซื้อจัดจ้าง (Cybersecurity) เนื่องจากการโจมตีทางไซเบอร์ในระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เป็นแนวโน้มสำคัญ ซึ่งเกิดจากองค์กรภาครัฐและเอกชนได้เชื่อมต่อกันในห่วงโซ่อุปทาน หากหน่วยงานใดมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จะทำให้องค์กรที่เชื่อมต่อเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยไปด้วย
ในสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎระเบียบมาตรฐาน Cybersecurity Maturity Model Certification (CMMC) สำหรับบริษัทที่จะให้บริการกับกระทรวงกลาโหม ต้องผ่านมาตรฐานนี้
ซึ่งทำให้บริษัทที่จะเข้าประมูลงานหรือเป็นคู่สัญญากับกระทรวงกลาโหมจะต้องพัฒนาเรื่องการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของบริษัท และบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด
กฎระเบียบดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบริษัทกว่า 6 แสนบริษัททั่วโลกรวมถึงบริษัทในประเทศไทย
ทิศทางที่สี่ การป้องกันการคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Anticorruption) ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ ทั้งการล็อคสเปก การฮั้วประมูล การกำหนดระยะเวลายื่นข้อเสนอที่สั้นเกินไป รวมถึงการเรียกผลตอบแทนที่ไม่ชอบ
การป้องกันการคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนจับตามอง โดยเฉพาะการทำให้กระบวนการโปร่งใส ตรวจสอบได้ เปิดเผยทุกสัญญาของภาครัฐ
โดยใช้เครื่องมือดิจิทัล บล็อกเชน ข้อมูลแบบเปิด และเปิดช่องทางให้ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบกระบวนการได้โดยไม่ยุ่งยาก
ทิศทางที่ห้า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในกรณีฉุกเฉิน ที่ผ่านมาด้วยกฎหมายที่ล้าสมัยและขาดความคล่องตัวทำให้หลายประเทศเสียโอกาสในจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อใช้ในวิกฤตอย่างรวดเร็วในสถานการณ์ฉุกเฉิน
แนวโน้มในอนาคตของการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐในเวลาฉุกเฉินต้องเร็วและคล่องตัว เช่นกรณีรัฐบาลอิสราเอลและเกาหลีใต้ที่ยืดหยุ่นในการสั่งจองวัคซีนสำหรับโควิด-19 ซึ่งมีความเสี่ยงหากวัคซีนไม่สำเร็จ และเปิดโอกาสให้สามารถแลกเปลี่ยนวัคซีนในรูปแบบการยืมได้ เป็นต้น
การประกาศนโยบายของภาครัฐถือเป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นของการส่งสัญญาณว่า ภาครัฐจะผลักดันประเทศไปในทิศทางใด แก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไร แต่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกิดขึ้นจริงต่างหากจึงเป็นสัญญาณที่แท้จริงว่ารัฐกำลังส่งเสริมสิ่งใดและไม่สนับสนุนสิ่งใด
คอลัมน์ : คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา
www.facebook.com/thailandfuturefoundation/