เอฟเอโอ หนุนทั่วโลกเปลี่ยนระบบอาหารลด วิกฤตค่าครองชีพ
เอฟเอโอ ดัน เปลี่ยนระบบอาหาร หนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขจัดความยากจน ส่งเสริมความเสมอภาค เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตค่าครองชีพ ที่ส่งผลต่อประชากรทั่วโลกกว่า 3,000 ล้านคน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการได้
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก ครั้งที่ 50 (Committee on World Food Security: CFS) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในหัวข้อ “การรับมือต่อวิกฤตการณ์อาหารโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Global Responses to a Global Food Crisis – Leaving No One Behind)” โดยมี Mr. Gabriel Ferrero เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิก 129 ประเทศ หน่วยงานของสหประชาชาติ องค์กรประชาสังคม หน่วยงานด้านการเกษตรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน
การประชุม CFS เป็นเวทีประชุมระหว่างประเทศและระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิก โดยครั้งนี้ ได้มีการหารือกันในวาระต่างๆ อาทิ สถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของโลก ปี 2565 การสร้างเสริมพลังให้กลุ่มสตรี และเด็กผู้หญิงเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในด้านระบบอาหารและโภชนาการ ทิศทางยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ CFS มุ่งสู่ปี 2573 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างพลังให้กลุ่มเยาวชนเพื่อนำไปสู่ระบบอาหารที่ครอบคลุมและยั่งยืน และการส่งเสริมการลงทุนอย่างรับผิดชอบ
โอกาสนี้ ที่ประชุมได้ร่วมรับฟังมุมมองจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ประธาน CFS (Mr. Gabriel Ferrero) ได้เน้นถึงความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ทุกคนทั่วโลกจะเข้าถึงความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของโลก ปี 2565 ระบุว่า มีประชากรกว่า 828 ล้านคนกำลังเผชิญกับภาวะความอดยากหิวโหย และคาดการณ์ว่า ในปี 2573 จะยังมีประชากรเกือบ 670 ล้านคนที่ต้องเผชิญกับภาวะนี้ ขณะที่ผู้อำนวยการใหญ่ของ FAO (Mr. Qu Dongyu) ระบุว่า FAO พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ และกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น UN เพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
รวมถึงเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรในครัวเรือน เกษตรกรรายย่อย และชุมชนที่เปราะบางที่สุดในทุกส่วนของโลกให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านระบบอาหารทางเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ไปสู่ผลผลิต การโภชนาการ สภาพแวดล้อม และชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
และเลขาธิการสหประชาชาติ (Mr. AntÓnio Guterres) ได้เสนอว่าจากการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ปี 2564 ได้เน้นย้ำอย่างชัดเจนว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนทั่วโลก และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขจัดความยากจน และส่งเสริมความเสมอภาค เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตค่าครองชีพ ที่ส่งผลต่อประชากรทั่วโลกกว่า 3,000 ล้านคน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการได้
นอกจากนี้ ในโอกาสช่วงวันสตรีชนบทสากล (15 ตุลาคม ของทุกปี) ซึ่งเป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับสตรีและเด็กผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารและเพิ่มความยืดหยุ่นแก่เศรษฐกิจชนบท ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญด้านการเสริมพลังให้กลุ่มสตรี และเด็กผู้หญิง ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในด้านระบบอาหารและโภชนาการ
โดยผู้แทนฝ่ายไทย นางสาวหิรัญญา สระสม ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้กล่าวให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมพลังกลุ่มสตรีและเด็กผู้หญิง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสตรีในภาคเกษตร อันถือเป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตรและเศรษฐกิจฐานราก
โดยได้กำหนดนโยบายให้ ปี 2566 เป็น “ปีแห่งการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร” โดยจะขับเคลื่อนและพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มสตรีภาคเกษตรให้กลายเป็น Smart Group เพื่อสามารถวิเคราะห์และวางแผนฤดูการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเข้าถึง
ตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ส่งเสริมและพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของไทยที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและสร้างพลังความเข้มแข็งให้แก่เยาวชนเพื่อนำไปสู่ระบบอาหารที่มีความยั่งยืนและครอบคลุม โดยประเทศไทยมุ่งมั่นให้การสนับสนุนและดึงดูดกลุ่มเยาวชนให้มาสนใจในด้านการเกษตรและระบบอาหารมากขึ้น ผลักดันเกษตรกรรุ่นใหม่สู่การทำการเกษตรสมัยใหม่และการเกษตรแม่นยำสูง เพื่อนำไปสู่ระบบอาหารที่ครอบคลุมและยั่งยืน ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้ความมั่นคงอาหารและโภชนาการโลกต่อไป