'การบินไทย' มั่นใจ 2 ปี พ้นฟื้นฟู ตั้งที่ปรึกษาการเงินลุยแปลงหนี้เพิ่มทุน
“การบินไทย” เดินหน้าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเริ่มแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุน เคลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ คาดแอคชั่นแผนได้ต้นปี 66 เผยระยะเร่งด่วนจัดหาทุน 12,500 ล้านบาทเสริมสภาพคล่อง
หลังปัญหาต่างๆ รุมเร้าการบินไทยจนนำไปสู่การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทแค่ด้วยสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินที่เริ่มฟื้นตัวและปัญหาต่างๆที่ค่อยๆได้รับการแก้ไข ทำให้ผู้บริหารได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำไปสู่การประชุมเจ้าหนี้ จนได้มีมติตามมาตรา 90/46 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปก่อนหน้านี้ ความคืบหน้าล่าสุด
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางมีกำหนดวันนัดฟังคำสั่งศาลเกี่ยวกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นชอบให้การบินไทยแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามที่เสนอ อีกทั้งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ 78.59% รวมกระทรวงการคลัง ยังได้โหวตยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าแผนดังกล่าวจะทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูเร็วขึ้นจากกำหนดเดิมในปี 2567 และสามารถกลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2568
อย่างไรก็ดี ขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ การบินไทยจะจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เข้ามาเตรียมเรื่องของกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิม ในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาพรวมธุรกิจของการบินไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงฟื้นตัว มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย (เคบิ้นแฟกเตอร์) 80% ส่งผลให้การบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) สะสมอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
“หลังจากนี้การบินไทยก็จะเริ่มขั้นตอนจัดหา FA เข้ามาช่วยในเรื่องกระบวนการทางการเงิน ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งทำเพื่อให้สามารถเดินแผนฟื้นฟูได้เร็วที่สุด เพราะจะเป็นแผนที่ผลักดันการบินไทยให้ไปสู่เป้าหมายทำกำไรอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าในช่วงต้นปีหน้า การบินไทยจะสามารถแอคชั่นแผนฟื้นฟูนี้ได้”
จัดหาทุนหนุนสภาพคล่อง 1.25 หมื่นล้าน
ทั้งนี้ การจัดหาเงินทุนใหม่ระยะเร่งด่วนที่การบินไทยวางแผนไว้ คือวงเงินราว 12,500 ล้านบาท เพื่อนำวงเงินดังกล่าวมาเสริมสภาพคล่อง และคาดว่าเริ่มเงินส่วนนี้ใช้ในปี 2566 โดยทาง FA จะเป็นส่วนช่วยวิเคราะห์ในการทำแผนจัดหาวงเงินทั้งหมด เบื้องต้นจะเลือกระหว่าง การจัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี ไม่เกิน 12,500 ล้านบาท หรือการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียนในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาท แนวทางใดแนวทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเพิ่มทุนใหม่
นายสุวรรธนะ กล่าวด้วยว่า การกลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีข้อกำหนดว่าการบินไทยจะต้องทำกำไรให้ได้ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันผลการดำเนินงานของการบินไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูแล้ว โดยสามารถทำกำไรได้ในรอบหลายเดือน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสาร และปัจจุบันการบินไทยยังสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้จนมีแคชโฟว์สะสมเพิ่มขึ้น
สำหรับคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่เห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในครั้งนี้ มีเนื้อหาคำสั่งศาลสรุปได้ ประกอบด้วย 1. การแก้ไขแผนในส่วนการชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้นั้น มีการกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มเดียวกันให้ได้รับชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกัน โดยได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการไว้ภายใน 31 ธ.ค.2567 ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ลูกหนี้มีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นและทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้เร็วขึ้น ดังนั้นการแปลงหนี้เป็นทุนจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ
2.การแก้ไขแผนที่เพิ่มเติมข้อกำหนดในการชำระหนี้ให้แก่กลุ่มผู้โดยสารให้ได้รับชำระหนี้ตามมูลค่าบัตรโดยสารที่บันทึกไว้ โดยเริ่มชำระได้ตั้งแต่วันที่ศาลเห็นชอบด้วยแผนที่แก้ไขโดยต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567 ซึ่งการแก้ไขวิธีการชำระหนี้ดังกล่าว ไม่ใช่การลดยอดหนี้ แต่เป็นการชำระหนี้ตามมูลค่าบัตรที่ลูกหนี้ได้รับ และเป็นไปตามสิทธิหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายในการทำธุรกิจการค้าปกติและตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสาร ทั้งอาจทำให้ผู้โดยสารรับเงินเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอคำขอรับชำระหนี้ให้มีคำสั่งถึงที่สุด
3.การแก้ไขแผนเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีข้อพิพาทในต่างประเทศและผู้บริหารแผนจำเป็นต้องเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทกับเจ้าหนี้ดังกล่าวนั้น หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าว อาจทำให้ลูกหนี้ต้องถูกบังคับยึดทรัพย์ในต่างประเทศ รวมถึงเครื่องบินในช่วงเวลาลงจอด ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ประเด็นนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้ผู้คัดค้านแผนฟื้นฟู การแก้ไขแผนในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
แก้ปัญหาหนี้ลดอุปสรรคทำธุรกิจ
4. การแก้ไขแผนเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทย นั้น เจ้าหนี้ผู้ให้บริการสนามบิน ผู้ให้บริการภาคพื้นและผู้ให้บริการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจที่ระบุรายชื่อและรายละเอียดเงินที่ค้างชำระไว้ ถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจการค้าตามปกติของลูกหนี้ หากไม่แก้ไขแผน ย่อมทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถดำเนินการค้าตามปกติต่อไปได้
5. ข้อเสนอขอแก้ไขแผนส่วนแผนปฏิรูปธุรกิจ คณะกรรมการกำกับสินเชื่อใหม่และข้อกำหนดรองรับความเสี่ยงให้เจ้าหนี้ที่ถูกบังคับแปลงหนี้เป็นทุน รวมถึงกำหนดเงื่อนไขอันเป็นผลสำเร็จของแผน ไม่ใช่รายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การยกเลิกส่วนคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ ก็เนื่องจากเป็นการลดขั้นตอนการดำเนินงานเพราะมีคณะกรรมการเจ้าหนี้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้บริหารแผนอยู่แล้ว จึงไม่ทำให้ข้อเสนอขอแก้ไขแผนไม่ชอบ
สำหรับรายละเอียดสาระสำคัญในการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการมีประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย
1.จัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทยังได้เตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้อีกด้วย
2.ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวกเพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคงและเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง โดยตั้งเป้าส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และหลักทรัพย์ของบริษัทน่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568
3.แก้ไขและเพิ่มเติมรายละเอียดการแผนการชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการปฏิบัติตาม และให้บริษัทมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการในภาวะที่อุตสาหกรรมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและการชำระหนี้ของเจ้าหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปัจจุบัน
และ 4.แก้ไขรายละเอียดในส่วนของผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนที่ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับบริบทและข้อเท็จจริงในปัจจุบัน