ครม.เคาะแผนเยียวยาระยะกลาง - ยาว ฟื้นขวัญ - เติมกำลังใจ ‘หนองบัวลำภู’ ปี 65- 66
จากเหตุการณ์กราดยิงและไล่แทงเด็กและครูภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากจุดเกิดเหตุ และจุดอื่น ๆ รวมกว่า 36 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเยียวยาความเสียหายทั้งร่างกายและจิตใจให้แก่คนในพื้นที่
โดยที่ผ่านมาได้มีการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้สูญเสียจากทุกฝ่าย เรียกได้ว่ามาตรการการช่วยเหลือในระยะสั้นได้ลงไปในพื้นที่แล้ว
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการหารือและรับทราบเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาครอบครัว ชุมชนของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์นี้ในระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งนำเสนอโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การให้ความช่วยเหลือในระยะกลาง ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน – ธันวาคม 2565 ได้แก่
1.จัดทีมผู้จัดการให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นรายกรณี (Case Manager : CM) จากหน่วยงานในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ทีม One Home พม.) 9 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย เลย ชัยภูมิ บึงกาฬ สกลนคร และพิษณุโลก ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ และบรรเทาทุกข์ ผู้ถูกได้รับผลกระทบ พร้อมบันทึกข้อมูลรายครัวเรือนและวางแผนการช่วยเหลือเยียวยา ควบคู่กับทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีแผนการเยี่ยมให้กำลังใจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในช่วง 2 เดือนแรก
2. จัดทำแผนบูรณาการ “ใกล้บ้าน – ใกล้ใจ” โดยใช้ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลอุทัยสวรรค์ ตำบลด่านช้าง ตำบลกุดแห่ ตำบลโนนเมือง และตำบลฝั่งแดง เป็นกลไกในการขับเคลื่อนและเป็นศูนย์กลางการบูรณาการการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ
เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทั้ง 5 ตำบล ตามสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีความยั่งยืน โดยมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เป็นผู้จัดการให้ความช่วยเหลือดูแลเป็นรายกรณี (Case Manager) ทั้ง 40 ครอบครัว ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลลงในสมุดพกครอบครัว ร่วมกันวิเคราะห์วางแผนการช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพและรายได้ ด้านที่อยู่อาศัย และด้านการเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ มีการอบรมอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายใหม่เพิ่มขึ้น ในพื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ จำนวน 12 หมู่บ้าน ๆ ละ 10 คน รวม 120 คน และในพื้นที่ตำบลอื่น ๆ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู หมู่บ้านละ 5 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 600 คน
3.ใช้พื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ ตำบลด่านช้าง ตำบลกุดแห่ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นห้องปฏิบัติการ (LAB) กระทรวง พม. เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนการบูรณาการความช่วยเหลือประชาชนด้านสังคม และห้องปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการให้เกิดความยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
4.การเร่งปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของครอบครัวผู้ประสบเหตุ 39 ครอบครัว
5.การช่วยเหลือทุนการศึกษาของครอบครัวที่เสียชีวิต เพื่อให้สามารถได้รับการศึกษาต่ออย่างต่อเนื่อง
6. การฝึกทักษะด้านอาชีพของผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัว โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่ยังไม่มีรายได้หรือว่างงาน ประสานกับนายจ้างจนกว่าจะสามารถทำงานได้เป็นปกติ รวมทั้งประสานกระทรวงแรงงานเพื่อพัฒนาทักษะด้านอาชีพอย่างต่อเนื่อง
7.การฝึกทักษะอาชีพเพิ่มเติมให้กับผู้ที่สนใจในชุมชนพื้นที่อำเภอนากลาง 10 ตำบล และการขอโควตาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล
8.การจัดทำแผนฟื้นฟูเยียวยาและแผนเผชิญสถานการณ์ทางสังคม โดยร่วมกันวิเคราะห์และจัดทำคู่มือจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู จัดกิจกรรมฟื้นฟูเยียวยาชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยความร่วมมือระหว่าง ทีม One Home พม. จังหวัดหนองบัวลำภู องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอนากลาง ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น เครือข่ายขบวนชุมชน วัด อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และภาคีเครือข่ายโดยกำหนดการจัดกิจกรรมสำคัญ ได้แก่
ครั้งที่ 1 ในระหว่างวันที่ 29 - 30 ตุลาคม 2565
- พิธีทำบุญเรียกขวัญประจำหมู่บ้าน
- พิธีผูกเสี่ยว “ครอบครัวกับ CM”
- คลินิกอาชีพยุคใหม่ที่สร้างรายได้มั่นคง
ครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2565
- กีฬาพื้นบ้านคน 3 รุ่น
- การแข่งขันกีฬาเด็กและเยาวชนสานมิตรพิชิตยาเสพติดชิงถ้วยรางวัล
สำหรับการเยียวยาในระยะยาว ในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 ได้แก่
1.ทีมปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขคัดกรองแบ่งกลุ่ม ประเมินสุขภาพจิต ประเมินความเข้มแข็งของครอบครัว และวางแผนออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมบูรณาการเครือข่ายในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามสภาพปัญหาและความต้องการให้ครอบคลุมทุกมิติ ประเมินผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากเปราะบางสู่ความเข้มแข็ง เป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ 12 กระทรวง เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน 5 มิติ ทั้งด้านข้อมูล ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านที่อยู่อาศัย ด้านอาชีพและการมีงานทำ และด้านท่องเที่ยวและชุมชน
เพื่อให้เกิดการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระดับพื้นที่โดยผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากคนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) รวมทั้งติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนองค์ความรู้ พร้อมทั้งติดตามการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
2.จัดทำเป็นพื้นที่ต้นแบบระบบสวัสดิการสังคมครบวงจร เป็นพื้นที่นำร่องที่มีระบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยยึดปัญหาและความต้องการของประชาชน เป็นศูนย์กลาง เป็นการพลิกฟื้นพื้นที่ที่ประสบปัญหาให้เป็นพื้นที่สวัสดิการสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม
3.การฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ปฏิบัติเสมือนเป็นบุคคลในครอบครัวและติดตามพร้อมรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกเดือน เป็นเวลา 1 ปี