"กองทุนน้ำมัน" มีไว้ทำไม ยุบเลิกไปมีผลอย่างไรกับ "ราคาพลังงาน"
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ถือเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน จัดตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลักคือสนับสนุนราคาน้ำมัน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีข้อเรียกร้องจากภาคประชาชน และนักเคลื่อนไหวสายพลังงาน ให้ยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะราคาน้ำมันในประเทศไทยลอยตัวตามกลไกตลาดมานานแล้ว ดังนั้น รัฐบาลก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาเงินกองทุนไปอุดหนุนเพื่อตรึงราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันมีฐานะสุทธิ ณ วันที่ 16 ต.ค. 2565 ติดลบที่ 125,690 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 84,126 ล้านบาท และบัญชีLPG ติดลบ 42,564 ล้านบาท ถือว่าสูงที่สุดในประวัติกาล แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องให้ยุบกองทุนน้ำมันมาหลายต่อหลายรัฐบาลแต่ก็ไม่สามารถมีรัฐบาลยุคไหนยุบได้ ใช้วิธีงดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ช่วงสั้นๆ เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลถูก และเมื่อเงินในกองทุนน้ำมันลดลงเรื่อย ๆ ก็หันกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนสลับกันไป ส่งผลให้เงินในบัญชีมีทั้งติดลบและมีเหลือเก็บบ้างสลับกันไป เป็นต้น
แหล่งข่าวจาก กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า บทบาทสำคัญของกองทุนน้ำมัน เปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญของภาครัฐ ที่ช่วยลดผลกระทบ ต่อประชาชน ในยามที่ราคาน้ำมันราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยใช้กลไกจากเงินในกองทุนจ่ายชดเชย ราคาบางส่วนให้กับผู้ค้าน้ำมัน เพื่อตรึงราคาน้ำมันไว้ชั่วคราว เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง จนไม่ต้องชดเชยราคาขายปลีก เงินที่เคยจ่ายเพื่อชดเชย ก็จะถูกเก็บไว้ในกองทุนน้ำมัน เป็นทุนไว้ใช้รับมือกับภาวะน้ำมันแพงรอบต่อ ๆ ไป
ทั้งนี้ จากวิกฤติซ้อนวิกฤติ คือ โควิด-19 และสงครามทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบลากยาวทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นและผันผวนตลอดเวลา ทำให้จากการที่กองทุนนั้นมีเงินในบัญชีหลัก 40,000 ล้านบาท ต้องค่อย ๆ ทยอยติดลบมาจนถึงปัจจุบันกว่า 1.2 แสนล้านบาท แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามให้กลไกการลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทเข้ามาช่วยในปัจจุบัน แต่กองทุนน้ำมันก็ยังต้องใช้เงินอุดหนุนลิตรละประมาณ 3-4 บาท และเคยอุดหนุนสูงสุดลิตรละ 14 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันยังประสบปัญหาในการจ่ายเงินให้กับคู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 ล่าช้ากว่าปกติมาก ในขณะที่บางช่วงของราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงรวดเร็ว กองทุนน้ำมันก็ไม่ยอมเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มในส่วนของ กลุ่มเบนซิน และกลุ่มดีเซลที่รวดเร็ว จึงทำให้เงินกองทุนน้ำมันยิ่งติดลบรวดเร็ว และส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันมีค่าการตลาดกลุ่มเบนซินในบางช่วงที่สูงกว่าควรจะเป็นได้มากถึงระดับ 2 บาทต่อลิตร โดยอ้างว่านำมาถัวกับค่าการตลาดที่ภาครัฐขอความร่วมมือดูแลดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
“ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันพยายามกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่องและจ่ายเงินให้กับคู่ค้ามาตรา 7 แต่ก็ไม่มีสถาบันการเงินไหนยอมปล่อยกู้ จึงต้องขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ให้ พร้อมกับขยายกรอบเพดานเงินกู้ถึง 1.5 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนขอกู้เงินอยู่ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้เงินก้อนแรกตามที่กองทุนน้ำมันตั้งว่าจะกู้ที่ 20,000 ล้านบาทมาเมื่อไหร่” แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันเมื่อยามวิกฤติหลายฝ่ายต่างเห็นอกเห็นใจฐานะกองทุนน้ำมันที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินมากมายขนาดนี้ ต่างจากในช่วงยามที่ราคาน้ำมันลดลง คนบางกลุ่มกลับไม่เห็นความสำคัญของกองทุนน้ำมันและมุ่งไปในประเด็นที่ว่ากองทุนน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันแพง เพราะต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งอยากให้หลายฝ่ายมองในจุดดีจุดเสียแล้วลองทบทวนถึงบทบาทกองทุนน้ำมันอีกครั้งว่าควรจะมีหรือไม่มีดี อีกทั้ง กองทุนน้ำมันยังมีบทบาทในการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนในปัจจุบันที่ถัง 15 กก. ที่ 408 บาท โดยอุดหนุนอยู่ที่ 6.96 บาทต่อกก. จากราคาต้นทุนอยู่ที่ 442 บาทต่อถัง 15 กก. ราคาคาร์โก้อยู่ที่ราว 540 ดอลลาร์ตัน
“นี่เป็นสาเหตุที่รัฐบาลพยายามประคับประคองกองทุนน้ำมันไว้เพื่อเป็นกลไกในการพยุงราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่มียอดใช้งานวันละกว่า 60 ล้านลิตร หรือกว่า 60% ของจำนวนการใช้น้ำมัน ซึ่งถือเป็นสินค้าอุปโภคที่เป็นต้นทุนสำหรับสินค้าอื่น ๆ ตามมา และยิ่งด้วยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบันก็ยิ่งทำให้ต้นทุนต่าง ๆ สูงขึ้นไปด้วย ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงต้องตรึงราคาน้ำมันดีเซล และแก๊สหุงต้มต่อไป และไม่ปล่อยให้ขึ้นไปตามราคาในตลาดโลก เพื่อลดผลกระทบต่อความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว