'สามารถ' จี้ รฟม.ตอบ 10 ข้อสังเกต ปมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
“สามารถ ราชพลสิทธิ์” ตั้ง 10 ข้อสังเกต ปมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม จี้ รฟม.ตอบรัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติหรือไม่
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยในช่วงหนึ่งของการเปิดเวทีสาธารณะค้นหาความจริง “กรณี 6.8 หมื่นล้านบาท ในการประชุมรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผลประโยชน์ ... หรือค่าโง่ ที่รัฐฯ ต้องมีคำตอบ” จัดขึ้นโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT วันนี้ (21 ต.ค.) โดยระบุว่า จากการติดตามประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นระยะเวลามากว่า 2 ปี ตนพบข้อสังเกตรวม 10 ข้อ ที่อยากให้หน่วยงานเจ้าของโครงการอย่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คลี่คลายข้อสงสัย
โดยข้อสังเกตที่ 1 ถ้าหาก รฟม.ไม่ล้มประมูล จะพบว่าบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC อาจจะชนะการประมูล และรัฐจะประหยัดเงินได้ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท หากเปรียบเทียบกับข้อเสนอของเอกชนรายที่ชนะการประมูลในการประมูลครั้งที่ 2
ข้อสังเกตที่ 2 การที่ รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ขอให้เปลี่ยนเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่เกณฑ์ประมูลนี้ รฟม.ใช้เวลาศึกษามานานเกือบ 2 ปี ซึ่งน่าจะเป็นเกณฑ์ที่ได้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐอยู่แล้วหรือไม่ และเหตุผลในการเปลี่ยนเกณฑ์ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะ รฟม.อ้างว่าต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จึงต้องใช้เกณฑ์ใหม่ แต่เกณฑ์ใหม่กลับมีการให้คะแนนด้านเทคนิคแค่ 30% ลดลงหากเทียบกับเกณฑ์เดิมที่ให้คะแนนส่วนนี้ 100%
นอกจากนี้ รฟม. ยังเคยใช้เกณฑ์เดิม ประมูลโครงการอื่นๆ ที่ต้องใช้เทคนิคชั้นสูง เป็นโครงการที่มีเทคนิคในการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้ามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง - บางแค โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ โมโนเรล เป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยมีการนำมาใช้ในไทยมาก่อน ดังนั้นก็ต้องใช้เทคนิคในการก่อสร้างและติดตั้งระบบเหมือนกัน
ขณะเดียวกันเกณฑ์เดิมนี้ ยังมีการนำไปใช้กับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ อีกมาก อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน – นครราชสีมา และบางใหญ่ - กาญจนบุรี รวมไปถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และที่สำคัญในการประมูลครั้งที่ 2 รฟม.กลับมาใช้เกณฑ์เดิม ดังนั้นถ้าหากว่าเกณฑ์เดิมไม่ดี และเหตุใด รฟม.จึงกลับมาใช้
ข้อสังเกตที่ 3 การประมูลครั้งที่ 2 เหตุใด รฟม.จึงลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง แต่กลับเพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น ถ้าหากว่าต้องการ ถ้าหากว่าต้องการเข้มงวดในเรื่องของคุณภาพ ความปลอดภัยต่างๆ อย่างที่กล่าวอ้าง ก็ควรจะเพิ่มข้อกำหนดด้านคุณสมบัติทั้งในส่วนของผู้เดินรถไฟฟ้า และคุณสมบัติของผู้รับเหมา แต่กลับมาลดคุณสมบัติผู้เดินรถไฟฟ้า ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เดินรถในไทยก็ได้ ทั้งๆ ที่ส่วนนี้ผู้เดินรถต้องบริหารโครงการรถไฟฟ้าไปถึง 30 ปี
ข้อสังเกตที่ 4 ถ้า รฟม.ไม่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ (ITC) จะไม่สามารถร่วมประมูลกับ ITD ได้ และถ้า รฟม.ไม่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น BTSC และ STEC ก็จะสามารถยื่นประมูลครั้งที่ 2 ได้ด้วย
ข้อสังเกตที่ 5 กรณีที่ ITD ไม่สามารถยื่นประมูลกับ ITC ได้ ITD ก็ยังสามารถยื่นประมูลกับ BTSC ได้ และหากเป็นเช่นนั้น BTSC และ ITD ก็จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง
ข้อสังเกตที่ 6 รฟม.ให้ผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มได้ ทำให้ ITD สามารถเป็นผู้นำกลุ่มและยื่นข้อเสนอกับเกาหลีใต้ แต่ถ้าหากกำหนดผู้รับเหมาเป็นผู้นำกลุ่มไม่ได้ ผู้เดินรถไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้นำกลุ่มเหมือนการประมูลครั้งที่ 1 ถามว่าทาง ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าเกาหลีใต้นั้น จะยอมเป็นผู้นำกลุ่มหรือไม่ ถ้าต้องถือสัดส่วนการลงทุนที่สูงกว่า ต่างชาติจะยังอยากลงทุนกับไทยหรือไม่
ข้อสังเกตที่ 7 กรรมการคนหนึ่งของ ITD อาจทำให้ ITD มีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการ PPP ซึ่งส่วนนี้ รฟม.ระบุเองว่าจะไม่เปิดซองข้อเสนอที่ 2 และข้อเสนอที่ 3 หากพบว่าเอกชนขาดคุณสมบัติร่วมลงทุน ดังนั้นก็เกิดคำถามว่าคคณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม.ได้ตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ และเหตุใดจึงมีการเปิดซองข้อเสนอที่ 2 และข้อเสนอที่ 3 ของ ITD
ข้อสังเกตที่ 8 รฟม.เพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคสูงขึ้นกว่าการประมูลครั้งที่ 1 และสูงกว่าโครงการอื่น สงสัยว่ากีดกันเอกนรายใดรายหนึ่งไม่ให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคหลังผ่านเกณฑ์คุณสมบัติหรือไม่
ข้อสังเกตที่ 9 รัฐต้องจ่ายค่าก่อสร้างแพงขึ้นถึง 6.8 หมื่นล้านบาท หากเทียบกับข้อเสนอในการประมูลครั้งที่ 1 ดังนั้นการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติหรือไม่
และข้อสังเกตที่ 10 ข้อตกลงคุณธรรม ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการทุจริต องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ควรระวังไม่ให้เป็นตรายางรับรองการประมูลว่า ไม่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต