ส่องแผน ‘การบินไทย’ ปรับทัพฝูงบิน หนุนเช่าเครื่อง – ลดความเสี่ยง
เปิดแผนฟื้นฟู “การบินไทย” ถอดบทเรียนโควิด-19 ปรับทัพฝูงบินใหม่ หันใช้โมเดลเช่าเครื่องบิน ชี้เป็นโอกาสลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เดินหน้าเตรียมเช่าต่อเนื่อง 3 ปี รวม 32 ลำ
หลังศาลล้มละลายกลางได้อนุมัติให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เดินหน้าแก้ไขแผนฟื้นฟูตามที่เสนอไว้ โดยสาระสำคัญของการแก้ไขแผนฉบับนี้ คือการจัดหาเงินทุนใหม่ด้วยกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิม ในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ 5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้แผนฟื้นฟูยังระบุถึงแนวทางเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิมในปี 2567 รวมทั้งจะผลักดันให้การบินไทยมีส่วนทุนเป็นบวกในปี 2567 และสามารถกลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2568
โดยหนึ่งในแผนเสริมความแข็งแกร่งนี้ การบินไทยได้ระบุถึงการปรับรูปแบบจัดหาอากาศยานเป็นลักษณะเช่าแบบมีกำหนดสัญญา เปลี่ยนจากในอดีตมักจะใช้วิธีเช่าซื้อ และส่งผลให้ปัจจุบันการบินไทยเป็นเจ้าของอากาศยานที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี มีเทคโนโลยีไม่ทันสมัยหากเทียบเท่ากับอากาศยานรุ่นใหม่
นอกจากนี้เมื่อการบินไทยได้ปลดระวางอากาศยานแล้ว ยังพบว่าตลาดไม่ตอบสนองการซื้ออากาศยานดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันการบินไทยมีแผนจำหน่ายอากาศยานที่ไม่อยู่ในแผนปฏิบัติการบิน รวมจำนวน 34 ลำ โดยก่อนหน้านี้ได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุญาตให้โอน (จำหน่าย) จำนวน 11 ลำ เป็นอากาศยานแบบโบอิ้ง 737-400 ส่งผลให้ขณะนี้เหลืออากาศยานรอจำหน่ายอีก 23 ลำ
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนบริหารฝูงบินของการบินไทยที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการนั้น เราชัดเจนว่าจะไม่มีการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ โดยจะปรับเป็นการเช่า เนื่องจากวิธีเช่านี้ทำให้การบินไทยสามารถบริหารความเสี่ยงได้ หากเกิดกรณีคล้ายกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง การบินไทยก็สามารถคืนเครื่องเช่าได้ นับเป็นการบริหารงานที่คล่องตัวมากขึ้น
อีกทั้งการเช่าอากาศยานยังเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจของการบินไทย เพราะจะทำให้การบินไทยสามารถบริหารต้นทุนบำรุงรักษาได้ดีขึ้น เนื่องจากอากาศยานที่เช่านั้น สามารถเลือกเช่าอากาศยานรุ่นใหม่ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษาจำนวนมาก และการทำสัญญาเช่าเมื่อหมดสัญญาแล้ว ก็จะทำให้การบินไทยได้โอกาสในการเช่าอากาศยานรุ่นใหม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อบริการผู้โดยสารอยู่เสมอ
ทั้งนี้การจัดหาฝูงบินตามแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทย มีแผนจัดหาฝูงบินระหว่างปี 2565 – 2568 รวมจำนวน 32 ลำ โดยแบ่งเป็น
ในปี 2565 จำนวน 8 ลำ ประกอบด้วย
- อากาศยานแบบโบอิ้ง 777-200ER จำนวน 3 ลำ โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยได้มีมติให้เช่าดำเนินการตั้งแต่ปี 2562
- อากาศยานที่อยู่ในฝูงบินนำกลับมาใช้ปฏิบัติการบินจำนวน 5 ลำ
ในปี 2566 จำนวน 9 ลำ ประกอบด้วย
- อากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 จำนวน 2 ลำ
- อากาศยานที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาจำนวน 7 ลำ
ในปี 2567 มีแผนจัดหาฝูงบินเพิ่มจำนวน 12 ลำ
ในปี 2568 มีแผนจัดหาฝูงบินเพิ่มจำนวน 3 ลำ
ขณะที่ปัจจุบันการบินไทยมีอากาศยานใช้งานจำนวน 68 ลำ เป็นเครื่องบินที่มีอายุน้อย มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง ประกอบกับการบินไทยยังสามารถบริหารจัดการชั่วโมงการใช้เครื่องบินโดยเฉลี่ย (Aircraft Utilization) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังได้ดำเนินการนำเครื่องบินเก่ามาซ่อมบำรุงและนำกลับมาใช้งานจำนวน 5 ลำ คือ โบอิ้ง 777-200 ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส A330 จำนวน 3 ลำ
รวมทั้งล่าสุดการบินไทยยังได้รับมอบเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 3 ลำ เข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทในปี 2565 เป็นเครื่องบินพิสัยไกลที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับพัฒนาการตกแต่งภายในห้องโดยสารในแต่ละชั้นบริการให้มีความสะดวกสบายและทันสมัย อีกทั้งยังเป็นเครื่องบินที่ประหยัดน้ำมัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องบินที่มีความปลอดภัยที่สุดรุ่นหนึ่ง
โดยศักยภาพของเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ทั้ง 3 ลำ ให้บริการ 3 ชั้นโดยสาร แบ่งเป็น
- ชั้นหนึ่ง 8 ที่นั่ง
- ชั้นธุรกิจ ที่สามารถปรับเก้าอี้เอนนอนราบได้ 180 องศา 40 ที่นั่ง
- ชั้นประหยัด 255 ที่นั่ง
รวมทั้งมีการออกแบบการใช้พื้นที่ภายในอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการเก็บสัมภาระของผู้โดยสารและเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น พร้อมระบบสาระบันเทิงรุ่นใหม่ล่าสุด Panasonic EX3 หน้าจอ full HD ที่ให้ความคมชัดและหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น พร้อมทั้ง USB port ที่สามารถชาร์จ iPad ได้ มีระบบ Wi-Fi เพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วกว่าเดิม ด้วยระบบ KU band
สำหรับเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 3 ลำนี้ ยังได้รับนามพระราชทานว่า “อลงกรณ์” (ALONGKORN) และ “ศรีมงคล” (SIMONGKHON) และ “เทพราช” (THEPARAT) โดยปัจจุบันจะให้บริการในเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจุดบินต่างๆ ได้แก่ ลอนดอน โตเกียว (นาริตะ) และโอซากา