วิสัยทัศน์ 'นฤตม์' เลขาฯ บีโอไอคนใหม่ ดันลงทุน-เพิ่มขีดแข่งขันประเทศ
"นฤตม์" นั่งตำแหน่งเลขาธิการบีโอไอคนใหม่ โชว์วิสัยทัศน์ ปรับโครงสร้างบีโอไอ 4 ด้าน เร่งดันการลงทุนมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะยาว
"นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์" ก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” ในวัยเพียง 48 ปี ถือว่าเป็น “เลขาฯบีโอไอ” ที่อายุน้อยที่สุดที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กรหลักที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมการลงทุน และกำหนดทิศทางการลงทุนของประเทศ
“นฤตม์” ถือเป็นลูกหม้อตัวจริงของบีโอไอที่เริ่มทำงานในบีโอไอมานานถึง 27 ปีตั้งแต่ปี 2538 ตั้งแต่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการและขยับตำแหน่งรับผิดชอบงานสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมอนาคตระหว่างปี 2558 – 2565 ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มเศรษฐกิจการลงทุน และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจัดทำยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่ออนาคต
ขณะที่ในปัจจุบันการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการบีโอไอของนฤตม์ก็เป็นช่วงที่บีโอไอได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ที่จะเป็นทิศทางของประเทศในการส่งเสริมและผลักดันการลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้า 2566 – 2570 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วย
นฤตม์ เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอในระยะ 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าให้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ที่มีรากฐานมั่นคงและสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวท่ามกลางเทรนด์การลงทุนในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป
โดย ยุทธศาสตร์ใหม่จะมีการปรับเปลี่ยนบีโอไอ 4 ด้าน ประกอบด้วย นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ การกำหนดตัวชี้วัดใหม่ บทบาทใหม่ของบีโอไอ และมาตรการด้านสิทธิประโยชน์ชุดใหม่
ทั้งนี้ บีโอไอได้วางเป้าหมายให้การลงทุนในอนาคตบรรลุผล 3 ด้าน ประกอบด้วย Innovative ขับเคลื่อนการลงทุนในเศรษฐกิจนวัตกรรมเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ Competitive ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ ให้ปรับตัวได้เร็วและมีอัตราการเติบโตสูง และ Inclusive สร้างเศรษฐกิจที่คำนึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่ม เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
เลขาบีโอไอ กล่าวต่อว่า บีโอไอวางแผนนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ได้คำนึงถึงภาวะการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งนักลงทุนจะมีการให้น้ำหนักในการตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุนในอนาคตที่ต่างจากเดิม นอกเหนือจากการพิจารณาศักยภาพตลาดในประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์การลงทุน
แต่จะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ ความยืดหยุ่นของซัพพลายเชนในประเทศ การบริหารจัดการในช่วงวิกฤติที่ไม่กระทบกับภาคธุรกิจ รวมทั้งความสามารถในการจัดหาพลังงานหมุนเวียน
"อย่างไรก็ตาม เทรนด์การเปลี่ยนแปลงและวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลกยังเป็นโอกาสการเคลื่อนย้ายฐานทุนที่ไทยมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุนทั้งวัตถุดิบ และชิ้นส่วนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ โดยคาดว่าสถิติส่งเสริมลงทุนในปีนี้จะอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้นกว่าเดิมในปี 2566"
นอกจากนั้น การดำเนินงานของบีโอไอในอนาคตจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ (Promoter) มาสู่การเป็นผู้บูรณาการเครื่องมือสนับสนุนการลงทุน (Integrator) ผู้ให้บริการและอำนวยความสะดวก (Facilitator) และผู้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Connector) มากขึ้น เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจและการลงทุนมากที่สุด
ทั้งนี้ บีโอไอกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวไว้ทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่
1. การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของซัพพลายเชนในประเทศ
โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บีโอไอมุ่งจะให้เกิดการลงทุนจริงในอุตสาหกรรมมุ่งเป้า 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย บีซีจี ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไทย
2. เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart ควมคู่กับ Sustainability ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใหม่และการยกระดับผู้ประกอบการเดิม ทั้งด้านผู้ใช้และผู้ผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับให้ภาคอุตสาหกรรมมีกระบวนการผลิตที่เป็นระบบดิจิทัลและออโตเมชั่น ควบคู่ไปกับการลดปล่อยคาร์บอน
3. ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค โดยใช้โอกาสด้านพื้นที่ตั้งของไทย ส่งเสริมให้เกิดการตั้งสำนักงานใหญ่ของภูมิภาค โดยบีโอไอเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการครบวงจร (OSS) สำหรับการจัดตั้งบริษัท ณ จามจุรีสแควร์
4. ส่งเสริม SMEs และ Startup ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก ด้วยการสร้างเครือข่าวความเชื่อมโยงกับองค์กรภาคธุรกิจสำคัญ ได้แก่ หอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้มาตรการและสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเชื่อมโยงไปถึงทุกขนาดธุรกิจ
5. ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง โดยใช้ต้นแบบพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในการขยายไปยังระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค รวมทั้งเมืองรอง ชายแดน และจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ
6. ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม โดยสนับสนุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนร่วมกับองค์กรในท้องถิ่น ได้แก่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการพัฒนาชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมของบีโอไอสำหรับเยาวชน
7. ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและบทบาทของไทยในเวทีโลก โดยการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสรรพากร กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศ