“บีโอไอ” เล็งคลอดมาตรการใหม่ “เจโทร” หวังช่วยหนุนลงทุนไทย
การลงทุนภาคเอกชนเป็นหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยการดำเนินนโยบายต่างๆ ตั้งแต่การกำหนดพื้นที่อีอีซี รวมถึงเร่งปรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ เพื่อให้ทันต่อเทรนด์การลงทุน สอดคล้องตามแผนพัฒนาประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ 2558-2562 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 571,849 ล้านบาท กระทั่งปี 2563 ที่เศรษฐกิจไทยและภาคการลงทุนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มูลค่าการลงทุนทั้งปีลดลงอยู่ที่ 404,180 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในปี 2564 เมื่อเริ่มมีการผ่อนคลายการเดินทางและการเปิดประเทศ ทำให้ตัวเลขการลงทุนเริ่มฟื้นตัวกลับมา รวมทั้งปีมีมูลค่า 636,970 ล้านบาท และมีสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่ารวมอยู่ที่ 454,286 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในไทย ตามมาด้วยจีน สิงคโปร์ สหรัฐ และไต้หวัน
ดังนั้น เทรนด์การลงทุนหลังจากนี้จึงมีแนวโน้มไปในทิศทางบวก โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนรองรับเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมสมัยใหม่ New S-Curve มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 1 ใน 3 ของโครงการทั้งประเทศ
นอกจากนี้ บีโอไอ ได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ปี 2566-2572 บีโอไอได้กำหนดทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอนาคต 7 ปีข้างหน้า โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1.มาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ไทยมีศักยภาพและโอกาสในการเติบโต อาทิ บีซีจี รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมเดิมสู่ระบบออโตเมชันและดิจิทัล รวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย อาทิ EEC, SEZ
2.สร้างความแข็งแกร่งให้อีโคซิสเต็ม ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างสม่ำเสมอในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่ล้าสมัย และการออกมาตรการที่ดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศด้วยมาตรการวีซ่า ได้แก่ Smart Visa และ Long-Term Resident Visa (LTR Visa)
3.สนับสนุนความยั่งยืนและนวัตกรรม ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ
4.สร้างภาพลักษณ์ไทยเป็นจุดหมายการลงทุน โดยการปรับปรุงการบริการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้วยการเชื่อมโยงข้อมูล และการให้บิรการออนไลน์ ลดอุปสรรคการทำธุรกิจ
คุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) กล่าวว่าอาเซียนกำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุน เนื่องจากการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ และไทยยังเป็นประเทศที่นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจมาลงทุนเนื่องจากจุดเด่นหลายประการ ประกอบด้วย พื้นที่ตั้งยุทธศาสตร์ ความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานเดิมภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี
การให้สิทธิประโยชน์การลงทุน โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลบีซีจี (BCG Model) สอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ของญี่ปุ่นที่มีเป้าหมายปลดปล่อยก๊าซเรียนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero)
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีกฎระเบียบและข้อจำกัดหลายอย่างที่อาจส่งผลด้านลบต่อการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงานสะอาด อาทิ การซื้อขายไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาอุปสรรคสำหรับการลงทุนในไทยยังรวมถึงข้อกำหนดเงื่อนไขสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติและไทย ทำให้ต้องหาพาร์ทเนอร์ที่เป็นคนไทย และการขอยื่นวีซ่าการทำงานในประเทศ
“ทั้งนี้หากไทยมีการปรับปรุงกฎระเบียบและข้อจำกัดบางอย่างให้เปิดกว้างยิ่งขึ้น รวมถึงการกำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่มีความต่อเนื่องและชัดเจนจะเป็นปัจจัยบวกในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน”
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอมีความพร้อมในการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ยังขาดกลไกการขับเคลื่อนด้วยนโยบายของภาครัฐที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและการเดินหน้าเชิงรุก ยกตัวอย่างเช่น การออกมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคในประเทศและการออกกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป)
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้บีโอไอเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ LTR Visa เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดกลุ่มนักลงทุน ผู้มีความมั่งคั่ง ผู้มีทักษะและความเชี่ยวชาญสูงให้เข้ามาพำนักในไทย
สำหรับ LTR Visa เป็นวีซ่าพำนักระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติ โดยให้สิทธิพำนักในประเทศไทยได้ถึง 10 ปี พร้อมได้ใบอนุญาตทำงานควบคู่ไปด้วย และให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี โดยลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 17% และให้สิทธิมีผู้ติดตามได้ 4 คน มีเป้าหมายดึงชาวต่างชาติกลุ่มใหม่
รวมทั้งเพื่อเป็นการรองรับการให้บริการ LTR Visa บีโอไอปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน โดยเปิด 2 กองใหม่ ได้แก่ กองบริการชาวต่างชาติ และกองเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน