จับตาการเมืองโลกป่วนเอเปค แนะเป็นกลางรักษาบรรยากาศ

จับตาการเมืองโลกป่วนเอเปค  แนะเป็นกลางรักษาบรรยากาศ

"นักวิชาการ" ชี้การเมืองโลกกระทบเวทีผู้นำเอเปค คาดรัฐบาลรับมือได้ ออกแถลงการณ์ประธานที่ประชุม แทนแถลงการณ์ร่วม ระบุ “โจ ไบเดน” ขาดภาวะผู้นำ ลดความสำคัญร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เปิดทาง “สีจิ้นผิง” โชว์บทบาทนำ แนะไทยรักษาสถานะเป็นกลางสร้างบรรยากาศเจรจาทุกฝ่าย

การประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 29 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565 นับเป็นการประชุมที่กำลังถูกจับตามองท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะประเด็นสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 และส่งผลกระทบต่อการประชุมเอเปคในระดับรัฐมนตรี

ย้อนไปที่การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคในประเทศไทยที่ออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ไม่ได้หลายครั้ง โดยในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค.2565 เกิดเหตุการณ์ที่ผู้แทนจาก 5 ประเทศ “วอล์คเอาท์” ออกจากที่ประชุม ประกอบด้วย สหรัฐแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และญี่ปุ่น

โดยเป็นการวอค์เอาท์ระหว่างที่ผู้แทนรัสเซียกำลังกล่าวถ้อยแถลง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการที่รัสเซียทำสงครามบุกยูเครนมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 

ทั้งนี้ บางเขตเศรษฐกิจเสนอให้มีการบรรจุเรื่องความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครนเข้าไปในแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค เพราะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงานโลก แต่รัสเซียไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าไม่เกี่ยวกับเวทีการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค

ทางออกของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค คือ การแถลงการณ์ของประธาน (Chairman Statement) แทนการออกแถลงการร่วม

ล่าสุดการประชุมรัฐมนตรีการคลังเอเปค เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานที่ประชุมรัฐมนตรีการคลังเอเปค ออกมายอมรับว่าการประชุมครั้งนี้ออกได้เพียงแถลงการณ์ของประธานการประชุม

ทั้งนี้ เพราะที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่เรื่องเศรษฐกิจและการบริหารการคลังมีความเห็นตรงกันเรื่องการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในเดือน พ.ย.นี้

การเมืองโลกกระทบเอเปค

นายปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับไฮไลท์สำคัญของการประชุมผู้นำเอเปคในปีนี้ ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การประชุมสุดยอดผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น หรือการประชุมตลอดทั้งปีของหลายคณะทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจเท่านั้น 

สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศได้ถูกนำเข้ามากล่าวถึงในเวทีการประชุมเอเปค ซึ่งไทยเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวทีผู้นำเอเปคคงหลีกเลี่ยงประเด็นนี้ได้ยาก ทั้งที่ประเด็นการเมืองไม่ควรนำมายุ่งเกี่ยวกับเวทีเศรษฐกิจไม่ว่าประเทศใดจะเป็นเจ้าภาพการประชุม

ทั้งนี้ บางประเทศเลือกที่จะนำปมความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้องกับเวทีเศรษฐกิจ ซึ่งไม่คำนึงถึงประชากร 2,000 ล้านคน ที่อยู่ในประเทศ 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในเวทีเอเปคนี้ 

มั่นใจ“ไทย”พร้อมรับมือได้

ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพก็เจอสถานการณ์แบบนี้แน่นอน ซึ่งไทยเองก็รู้สถานการณ์ดี และได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากมีการวอล์คเอาท์ เพราะหากสุดท้ายไม่สามารถออก Joint Statement ได้ก็จะออกเป็น Chair Statement ได้ ซึ่งก็ถือเป็นความเห็นร่วมของชาติสมาชิกเอเปค

ทั้งนี้ ในการประชุมผู้นำเอเปคปี 2562 เคยเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถออก Joint Statement เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

อย่างไรก็ตามการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคเต็มรูปแบบอีกครั้งในรอบ 4 ปี หลังจากมีการยกเลิกการประชุมในปี 2562 ที่ชิลีเป็นเจ้าภาพและเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ส่วนปี 2563 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ และปี 2564 ที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ต้องจัดแบบการประชุมทางไกลเพราะผลกระทบจากโควิด-19

5ผู้นำร่วมเวทีเอเปคครั้งแรก

อีกมิติที่ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตามองการประชุมเอเปค คือ การเปิดตัวผู้นำใหม่ของโลก 5 คน ที่จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคเป็นครั้งแรก ประกอบไปด้วย 

1.นาย Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลีย 

2.นาย Gabriel Boric ประธานาธิบดีของประเทศชิลี 

3.นาย Yoon Suk-yeol ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี 

4.นาย Ferdinand “Bongbong” Marcos Jr. ประธานาธิบดีแห่งประเทศฟิลิปปินส์

5.นาย John Lee หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

"ผู้นำใหม่เหล่านี้จะเข้าร่วมในเวทีการประชุมหลัก การประชุมย่อย และการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนในครั้งนี้ จะเป็นอีกมิติที่ทั่วโลกจับตามอง" นายปิติ กล่าว

“ไบเดน”เสียบทบาทผู้นำ

ขณะที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐไม่มาร่วมประชุม เนื่องจากติดงานแต่งหลานสาว ทั้งที่กำหนดการการประชุมเอเปคได้ถูกกำหนดมาก่อนงานแต่งดังกบ่าว โดยประธานาธิบดีสหรัฐได้มอบหมายให้นางกมลา เทวี แฮร์ริส รองประธานาธิบดี มาแทน ซึ่งแม้ว่าจะได้มอบอำนาจเต็มในการเจรจาก็ตาม แต่ผลกระทบจะเกิดกับนายโจ ไบเดน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะผู้นำและธรรมาภิบาลบนเวทีโลก เนื่องจากให้ความสำคัญงานแต่งงานของหลานสาวมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนในกลุ่มเอเปคที่มีกว่า 2,000 ล้านคน 

"ประชาชนในเอเปคได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี วิกฤตพลังงาน วิกฤติการขาดแคลนอาหาร ขณะที่อีกด้านผู้นำจีนตอบรับที่เดินทางมาร่วมประชุมเอเปค  ซึ่งจะส่งให้ผู้นำจีนจะมีบทบาทเด่นในเวทีเอเปคในฐานะประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ"

นายปิติ กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยได้จากการประชุมเอเปค คือ ประเด็นเศรษฐกิจ เพราะตลอดทั้งปีมีการประชุมที่เกี่ยวข้องมีต่างชาติเดินทางเข้ามาร่วมประชุมหลายร้อยคน และเกิดการจับจ่ายใช้สอยทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร ท่องเที่ยวได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 

นอกจากนี้ยังมีนักธุรกิจเดินทางเข้ามาร่วมประชุมเอแบค และไทยยังเน้นย้ำกับนานาประเทศว่า ไทยเป็นประเทศที่ไม่อยู่บนความขัดแย้ง รวมทั้งการประชุมเอเปคครั้งนี้ ไทยชูประเด็นการเดินหน้าขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งเป็นแนวทางหลักสอดคล้องกับเทรนด์โลก โดยเชื่อว่าสมาชิก 21 เศรษฐกิจพร้อมร่วมมือในเรื่องนี้

แนะไทยรักษาความเป็นกลาง

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การเชิญผู้นำที่เป็นมหาอำนาจโลกเข้ามาประชุมที่ไทยนั้นทุกฝ่ายคาดหวังว่ากระทรวงการต่างประเทศจะเชิญผู้นำคนสำคัญ เช่น จีน สหรัฐ รัสเซีย ให้เข้ามาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำในไทยได้ ก็จะทำให้ไทยได้รับการจับตาจากสื่อทั่วโลก โดยไทยยังจำเป็นที่จะคงสถานะเป็นกลางในเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งต่างๆและสร้างบรรยากาศที่จะนำไปสู่การพูดคุยกันทุกฝ่านมากที่สุด

สำหรับการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปคถือเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะได้กำชับและสร้างความร่วมมือกับสมาชิกเอเปค และเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยในฐานะเจ้าภาพจะได้สื่อสารนโยบายเศรษฐกิจสำคัญที่ไทยให้ความสำคัญให้ประชาคมโลกรับทราบ เช่น พัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นโยบายเศรษฐกิจ BCG และการเข้าสู่การผลิตที่เน้นการลดคาร์บอนที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ

นอกจากนั้นการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในครั้งนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะโปรโมทการท่องเที่ยวไทยว่าเราความพร้อมรับนักท่องเที่ยวเข้ามาได้หลังจากที่โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจในปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 ที่คาดหวังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา 20-30 ล้านคน

“เศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนที่พึ่งพาต่างประเทศถึง 72% หากวัดจากการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยสมาชิกเอเปคหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ และเป็นประเทศที่อยากให้เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น จีน เป็นตลาดส่งออกของไทย 12% สหรัฐ 11% ยุโรป 9% ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนสำคัญของไทย จะเห็นว่าหลายประเทศที่จะเป็นสมาชิกเอเปคมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งไทยในฐานะเจ้าภาพควรใช้เวทีนี้สร้างความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อเปลี่ยนโมเมนตัมที่นักลงทุนไปสนใจไปลงทุนเวียดนามให้กลับมาสนใจลงทุนในไทย”