ไทยฮั้ว-นิคมหลักชัย เคาะปี66-67เข้าตลาดรับอุตฯยางฟื้น
แม้ไทยจะเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก แต่ยังขาดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่า ไทรเบคก้า เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด จึงตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง” เป้าหมายเอื้อนักลงทุนด้านเทคโนโลยียางพารา
หลักชัย กิตติพล ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ ไทยฮั้วยางพารา จำกัดมหาชน และ ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท ไทรเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เปิดเผยว่า ในขณะนี้ นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง วงเงินลงทุน 3,240 ล้านบาท บนพื้นที่ 2,441 ไร่ ที่ ต.สำนักทอง อ.เมือง จ.ระยอง ถือว่าเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยมีนักลงทุนเข้ามาใช้เต็มทุกพื้นที่ หลังมีหยุดชะงักไปบ้างในช่วงที่โควิด 19 ระบาด หลังจากนี้ ไทรเบคก้า อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะเป็นปี 2567 หลังจากที่ ไทยฮั้วยางพารา จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงเดือน ส.ค. 2566
“ไทยฮั้ว กับไทรเบคก้า ทำธุรกิจที่ต่างกัน ไทยฮั้วจะเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร ในขณะที่ ไทรเบคก้า เป็นธุรกิจอสังหา แต่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้ายางพารา ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ และความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกยังมีอยู่มาก เป็นสินค้าที่มีอนาคต ดังนั้นจึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มยางล้อ “
การเข้ามาลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จะได้มีข้อได้เปรียบ นอกจากอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบแล้วยังอยู่ ใกล้ท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา ทำให้สะดวกต่อการคมนาคมขนส่ง อีกทั้งยังอยู่ภายใต้การกำกับของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงมั่นใจในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ กนอ. อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้นิคมฯเพิ่มเติมอ่างเก็บน้ำมีความจุ 3,680,000ลูกบาทก์เมตร( ลบ.ม.) ระบบบำบัดน้ำเสียสองขั้นตอนชีววิธี บึงประดิษฐ์ มีแนวต้นไม้ป้องกันกว้าง10 เมตรโดยรอบ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่มีการจัดวางผังอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นให้มีการปล่อยของเสียน้อยที่สุด ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากร และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานหรือการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้คุ้มค่า และลดการปลดปล่อยของเสียให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยได้รับการยอมรับจากชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยรอบและโดยรวม ด้วยหลักการความร่วมมือพึ่งพากันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม หน่วยงานท้องถิ่น และชุมชน เพื่อมุ่งสู่ประโยชน์ร่วมกัน
รวมทั้งเป็นการ ขยายโอกาสทางธุรกิจในท้องถิ่น โอกาสมีงานทำที่มากขึ้นและดีขึ้น สร้างโอกาสการทำงานจากธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งนิคม ยังได้บริษัท โรงงานที่มีความรับผิดชอบสูง และมีจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวมเข้ามาอยู่ในพื้นที่
โดยบริษัทและโรงงาน มีนโยบาย นำกลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดรายจ่ายในการทำธุรกิจ และเพิ่มผลกำไร ลดต้นทุนการผลิต และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบและพลังงาน
ทั้งนี้ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป จะได้สิทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม สิทธิในการนำช่างฝีมือต่างชาติเข้ามาทำงาน สิทธิในการส่งเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศ
การลงทุนในเขตประกอบการเสรี (I-EA-T Free Zone) จะได้สิทธิ โดยไม่กำหนดเงื่อนไขการส่งออกสินค้าไปนอกราชอาณาจักร และได้รับความสะดวกมากขึ้นในการนำของหรือวัตถุดิบเข้าไปในเขตประกอบการเสรี ของที่นำเข้าไปในเขตประกอบการเสรี จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้น
เช่นลดภาระภาษี สำหรับการนำผลิตภัณฑ์ออกจากเขตประกอบการเสรีเพื่อใช้หรือจำหน่ายในประเทศ หากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนผสมหรือส่วนประกอบของวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ โดยที่วัตถุดิบที่นำเข้าไปนั้นไม่มีสิทธิได้คืนหรือยกเว้นอากร ก็จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำราคาวัตถุดิบนั้น ๆ มาคิดค่าภาษีอากร
“ ผมว่าจากนี้ต่อไป อุตสาหกรรมยางพาราจะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมา ได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้ว ปัจจุบันทุกประเทศต่างทุ่มงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเดินทาง การขนส่งต่างๆเริ่มกลับมา ทั้งหมดนี้จะทำให้เศรษฐกิจของโลกฟื้นขึ้นอีกครั้งและเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมยาง “