เปิดแผน “อมตะ” สมาร์ทซิตี้ รับลงทุน“ญี่ปุ่น-จีน-เกาหลี”
เมกะเทรนด์การลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตกำลังมุ่งไปสู่การพัฒนาระบบอัจฉริยะควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์การสร้างเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม
วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อมตะมีแผนขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทซิตี้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเป็นรากฐานสำหรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
ทั้งนี้ บริษัทได้มีการพัฒนาโครงการย่อยต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะอมตะ (AMATA Smart City) เริ่มต้นการพัฒนาที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี ทั้งหมดรวม 15 โครงการ อาทิ ด้านพลังงาน ด้านการเดินทาง ด้านการผลิต ด้านสังคมด้านการวิจัยและนวัตกรรม ด้านอุตสาหกรรมการบิน และด้านการศึกษา เป็นต้น
โดยตั้งเป้าให้การพัฒนาเมืองสมาร์ทซิตี้นำไปสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำในระยะยาวตามเทรนด์ของโลก อมตะตั้งเป้าหมายการลงทุนร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการก้าวสู่เป้าหมายการปล่อยมลพิษศูนย์ ภายในปี 2040
ลีน่า อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในโครงการหลักของการสร้างเมืองอัจฉริยะเป็นการร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับเมืองโยโกฮาม่า เมืองที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของญี่ปุ่น โดยกลุ่ม Yokohama Urban Solution Alliance (YUSA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2560 โดยจำลองต้นแบบมาจากเมือง Minato Mirai ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาย่านธุรกิจใหม่จากพื้นที่เดิมที่เคยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนักของประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาให้นิคมอมตะซิตี้ ชลบุรีเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ
โดยโครงการจะประกอบไปด้วย สำนักงาน อาคารพาณิชยกรรม ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดประชุมธุรกิจ (MICE) พื้นที่แสดงงานศิลปะ แหล่งบันเทิงและนันทนาการ โดยจะสร้างเป็นเมืองโยโกฮามาแห่งที่ 2 บนพื้นที่ 100 ไร่ บริเวณด้านหน้าของนิคม
ทั้งนี้ โครงการเมืองโยโกฮามาแห่งที่ 2 จะมีการวางคอนเซ็ปต์ที่มุ่งตอบโจทย์กลุ่มนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเป็นหลักซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของไทยและของอมตะ ซึ่งมีนักลงทุนและพนักงงานชาวญี่ปุ่นราว 4,000 คน ในพื้นที่ซึ่งทำงานในโรงงานญี่ปุ่นจำนวน 450 แห่ง หรือคิดเป็น 70% ของโรงงานทั้งหมดในนิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี
โดยสมาร์ทซิตี้แห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของบริษัทญี่ปุ่นและศูนย์ฝึกอบรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับ และสุขภาพนอกจากนั้นยังมุ่งให้เป็นเมืองอยู่อาศัยหลังการเกษียณอีกด้วย
รวมทั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ อมตะได้เปิดตัวโรงแรมนิกโก้ อมตะซิตี้ ชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานเมืองโยโกฮามาแห่งที่ 2 ด้านการพัฒนาชุมชนอยู่อาศัยอัจฉริยะ โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทอมตะ, บริษัท ฟูจิตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด และกองทุน เจแปน โอเวอร์ซีส์ อินฟาสตรัคชั่น อินเวสเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น ฟอร์ ทรานสปอต แอนด์ เออเบิร์น ดีเวลลอปเม้นท์ (JOIN) ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 2 พันล้านบาท โดย อมตะถือหุ้น 51% ฟูจิตะ 25% และ JOIN 24% ตามลำดับ
ทั้งนี้ โรงแรมดังกล่าวนับเป็นโรงแรมนิกโก้แห่งที่ 2 ในประเทศไทย ภายใต้การบริหารของ Okura Nikko Hotel Management ซึ่งเป็นเครือโรงแรมระดับสากลของญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นโรงแรมแห่งแรกในประเทศไทยที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน JOIN โดยตัวโรงแรมเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวมี 12 ชั้น รวมชั้นดาดฟ้าที่มี “โอฟุโระ” หรือโรงอาบน้ำแบบญี่ปุ่น มีห้องพัก 220 ห้อง ขนาดเริ่มต้นที่ 32 ตร.ม.
นอกจากนี้โครงการสมาร์ซิตี้อื่นๆ ที่กำลังดำเนินการ ประกอบด้วย
โครงการ Amata Taipei Smart City โดยโครงการนี้เป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโนเทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซันเเทนท์ จำกัด ตั้งอยู่ด้านเหนือของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร บนพื้นที่ 0.67 ตร.กม. เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ อุตสาหกรรมการแพทย์อัจฉริยะ และผู้ประกอบการรับเหมาวางระบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
โครงการอมตะ-หนานจิง สมาร์ทซิตี้ ร่วมกับทางเมืองหนานจิง ประเทศจีน พัฒนาพื้นที่เฟสใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี ขนาดประมาณ 10 ตร.กม.
โดยจะแบ่งเป็นส่วนของการตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง ชิ้นส่วนยานยนต์แห่งอนาคต ในรูปแบบอาคารสูง เพื่อรองรับนักลงทุนจีน
โครงการอมตะ-เกาหลีใต้ ร่วมกับบริษัท Korea Land and Housing Corporation (LH) รัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้ผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดการนิคมอุตสาหกรรม สมาร์ทปาร์ค และที่พักอาศัย จัดการนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เป็นพื้นที่ราว 1,000 ไร่
หลังจากนั้นจะศึกษาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับนักลงทุนจากเกาหลีตลอดทั้งซัพพลายเชน ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ชีวการแพทย์ และดิจิทัล รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์รูฟท็อป เพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
โครงการ “อมตะเมดิทาวน์” (AMATA Meditown) จะใช้พื้นที่ราว 300-500 ไร่ ในเขตพื้นที่อมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อให้บริการทางการแพทย์ในระดับสากล รวมถึงมีความร่วมมือด้านการผลิตยาและชิ้นส่วนการแพทย์ ด้านการศึกษาและวิจัย โดยเน้นการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อให้ได้มาตรฐานระดับ World Class Medical Hub แห่งหนึ่งของโลก