"ทีดีอาร์ไอ" ฉายภาพอนาคตอุตฯ ไทย ต้องเน้น ลีน-คลีน-ออโตเมชั่น
ประธานทีดีอาร์ไอ ฉายภาพอนาคตอุตสาหกรรมไทย รับมือวิกฤติเงินเฟ้อต้นทุนพุ่ง ต้องลีน กรีน ออโตเมชั่น เติมนวัตกรรมและมุ่งสู่ทิศทางตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี OIE Forum 2022 ในหัวข้อ “Disruptive Change is the New Chance วิกฤตพลิก โอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2565 ว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 อุตสาหกรรมบริการได้รับผลกระทบเยอะกว่าอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากการล็อกดาวน์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคจากภาคบริการไปสู่ภาคการผลิต อาทิ การปิดบริการฟิตเนสทำให้ยอดสั่งซื้อเครื่องออกกำลังกายเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การคลายล็อกดาวน์ก็ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเริ่มกลับมาสู่ภาคการบริการมากขึ้น แต่โควิดได้ทิ้งแผลเป็นใหม่ไว้ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เอสเอ็มอี ซึ่งจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยและเป็นผลกระทบระยะยาวที่ต้องรับมือ
มองโจทย์ระยะสั้น
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ส่วนหนึ่งเป็นวัฎจักรเศรษฐกิจซึ่งเป็นโจทย์มหภาค การที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ระยะถดถอยเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป ที่มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ประกอบกับความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ซ้ำเติมราคาพลังงานโลก ภาวะเงินเฟ้อจึงพุ่งขึ้นสูงกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ และคาดว่าจะมีผลยาวนานพอสมควรเนื่องจากราคาพลังงานจะยังอยู่ในระดับสูง
หลายประเทศจึงมีการใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐน่าจะอยู่ที่ 1-2% ยุโรป 0.5% ญี่ปุ่น 1.5% รวมถึงจีน 4% โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะเติบโตช้าลง และน่าจะไม่กลับมาโตที่สองหลักอีก ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะค่อนข้างซึม และจะมีผลต่อการบริโภคและการส่งออก
ทั้งนี้ ประเทศไทยเองที่เป็นเศรษฐกิจเปิดก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งจากการนำเข้าน้ำมัน การขึ้นค่าแรง ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับดัชนีราคาผู้ผลิตสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค คือผู้ผลิตมีต้นทุนที่สูงขึ้นแต่ยังไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวมีส่วนช่วยในการส่งออกได้บ้าง
ขณะที่อีกหนึ่งความท้าทายของภาคการผลิต คือ การขาดแคลนซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไฮเทค เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ซึ่งสถานการณ์ของไทยถือว่ายังไม่เจอกับ "เพอร์เฟคสตอร์ม" เนื่องจากภาคการผลิตของไทยยังมีเกี่ยวข้องกับสินค้าไฮเทคที่มีความซับซ้อนสูงไม่มากนัก แต่ไทยเองก็ได้รับหางเลข อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์
"ในระยะสั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วจะเข้าสู่ระยะถอดถอย รวมถึงจีนที่จะโตช้าลง ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งภาคการผลิตที่จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนในระยะยาวการขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ของโลก จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนและเป็นโอกาสที่ไทยสามารถฉกฉวยมาได้"
ตอบโจทย์ระยะยาว
ทุกการเปลี่ยนแปลงของโลก พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ทั้งสิ้น โดยหลังจากนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะย้ายศูนย์กลางจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอินเดีย และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ยังมีการเติบโตที่ดี ซึ่งโอกาสของไทยในระยะเวลาดังกล่าวคือการเปิดช่องทางการส่งออกไปยังประเทศข้างต้น
ขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่น่าจะยืดเยื้อไปอีกระยะหนึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนโลก ซึ่งในมุมนึงอุตสาหกรรมไฮเทคจะได้รับผลจากการผลิตที่ไม่ได้ขนาด (Economy of Scale) อาทิ ไอเอ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการผลิตยังไม่สามารถไต่อันดับไปสู่การผลิตขั้นสูงที่มีความซับซ้อนได้
โดยสะท้อนจากสถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมาในปี 2565 จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่าการลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมส่วนการลงทุนใน New S-Cuvre ยังไม่มากนักและยังกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนในอนาคต ซึ่งถือว่าไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องนี้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากมีโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด มีที่มาจากถ่านหินไม่เกิน 10% ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย
ในขณะที่จุดอ่อนที่ยังต้องปรับปรุงคือ การส่งเสริมให้ภาคการผลิตเปลี่ยนไปสู่การผลิตคาร์บอนต่ำซึ่งเป็นกระแสหลักของทุกอุตสาหกรรม แต่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวดจะทำให้เกิดการปรับตัวช้าและไม่ได้รับสัญญาณในการปรับตัว
ซึ่งเทรนด์คาร์บอนต่ำจะเป็นตัวกำหนดกติกาโลกใหม่ อาทิ การเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน CBAM การประกาศยุติการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาป โดยผู้ผลิตในซัพพลายเชนในหลายประเทศจะได้รับผลกระทบหากไม่มีการปรับเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นซัพพลายเออร์ระดับโลกจะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มปรับตัวได้เร็วกว่ามาตรการของรัฐบาล รวมทั้งเทรนด์การลงทุนในบริษัทที่มี ESG มีการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคม จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างรวดเร็ว
"สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำในช่วงวิกฤติเงินเฟ้อและต้นทุนสูง ประกอบด้วย จะต้องลีนให้มากที่สุด ลดการสูญเสียให้แข่งขันด้านต้นทุนได้ จะต้องกรีน พร้อมรับกติกาใหม่ มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนและส่งเสริมการประหยัดพลังงาน เติมออโตเมชั่น ลดปัญหาค่าแรงและการหยุดชะงักจากโรคระบาด ต้องมีนวัตกรรมขนาดใหญ่ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาให้เกิดขึ้นในประเทศ และสุดท้ายการเปลี่ยนทิศทางตลาดไปยังประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว อาทิ ตลาดประเทศเพื่อบ้าน"