สอวช.-ทีดีอาร์ไอ เปิดรายงานวิจัยฟื้นแนวคิดตั้ง กระทรวงทรัพยากรน้ำ
สอวช. ร่วมกับ ทีดีอาร์ไอ ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เสนอตั้ง กระทรวงทรัพยากรน้ำ เน้นการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ลดบทบาทการทำงานทับซ้อน
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เปิดผลการศึกษาวิจัยที่ทำร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ โดยมีรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงระบบการบริหารจัดการน้ำ
เริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายปลายทางของระบบฯ ที่เป็นไปตามหลักความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) ธรรมาภิบาลน้ำ (Water Governance) และความเป็นหุ้นส่วนด้านการจัดการน้ำ (Water Partnership) และระบุช่องว่าง และ จุดอ่อน ของระบบฯ 6 ประเด็นของโครงสร้างระบบที่สำคัญ รวมทั้งวิเคราะห์การดำเนินงานของประเทศต่าง ๆ
เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอการออกแบบระบบการบริหารจัดการน้ำที่แก้ไขปัญหาช่องว่างปัจจุบัน และรองรับบริบทอนาคตอย่างผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นน้ำกับเศรษฐกิจที่มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาดังกล่าวได้มีการนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ผลการศึกษาระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดตั้ง 4 เสาหลักเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และมี ความมั่นคงยั่งยืน โดยประกอบด้วย
เสาที่ 1 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เป็นเครื่องมือกำหนดกรอบและขอบเขตการทำงาน และแนวทางการขับเคลื่อน
เสาที่ 2 การจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานด้านน้ำ 43 หน่วยงาน
เสาที่ 3 กฎหมาย (พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ 2561) เป็นศูนย์กลาง กำหนดหน้าที่และอำนาจขอบเขตการบริหารจัดการน้ำ
เสาที่ 4 นวัตกรรมส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ผลงานวิชาการมาใช้ขับเคลื่อนแผนแม่บททรัพยากรน้ำ เป็นการบริหารจัดการน้ำให้ทันสมัย เน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการจัดการระบบข้อมูลอย่างรวดเร็วและถูกต้อง เพื่อการวิเคราะห์ วางแผน บริหารจัดการ และติดตามประเมินผล
อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดสากลด้านความมั่นคงด้านน้ำ ภายใต้กรอบ Asian Water Development Outlook 2020 (AWDO) และหนึ่งในตัวชี้วัดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของประเทศไทยที่มีค่าต่ำกว่าเฉลี่ยโลกในมิติความมั่นคงด้านภัยพิบัติจากน้ำ อยู่ในระดับ 2 จาก 5 ระดับ หมายถึง ต้องมีการพัฒนาระบบที่มีอยู่เพราะยังคงมีจุดบกพร่อง
ผลการศึกษาวิจัย ระบุด้วยว่า จากการวิเคราะห์ตามตัวชี้วัด Water Security และ Water Governance สามารถบ่งชี้ได้ระดับหนึ่งว่า ระบบการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันอาจยังไม่บูรณาการเพียงพอต่อบริบทปัจจุบันและไม่เพียงพอต่อการรับมือความเสี่ยงในอนาคต จากความผันผวนของสภาพอากาศ
รายงานธนาคารโลก (World Bank Group, 2022) ได้รายงานความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ว่าในภาพรวมประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อภัยธรรมชาติอันดับที่ 81 จาก 191 อันดับ โดยมีความเสี่ยงสูงต่อน้ำท่วมอันดับ 9 เสี่ยงสูงต่อภัยแล้งอันดับ 29 มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดพายุหมุนเขตร้อนอันดับ 27 ในขณะที่ความสามารถในการรับมือหรือการจัดการน้ำยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก
“ช่องว่างระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังต้องเสริมในเรื่องการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในทางปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังต้องคำนึงถึงแนวทางการกำกับการดูแล จัดการน้ำผ่านการบูรณาการงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับน้ำและแผนแม่บท
ซึ่ง 2 เครื่องมือนี้ยังมีข้อจำกัดในทางกฎหมาย และระบบการบริหารจัดการน้ำในระดับการสั่งการและบังคับการดำเนินการตามแผนแม่บท ซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับปฏิบัติการ” ผลการศึกษาระบุ
จากการทบทวนกรณีศึกษากับต่างประเทศ และการวิเคราะห์เชิงระบบสามารถสรุปช่องว่างระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ กฎหมายที่ยังออกไม่ครบตามเป้าหมาย และกฎหมายด้านน้ำที่มีมากกว่า 10 ฉบับ หน่วยงานน้ำที่มีจำนวนมากกว่า 43 หน่วยงาน และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ต้องสร้างเอกภาพในการดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม
ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการท่องเที่ยว ที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตอันใกล้ จึงต้องมีการแก้ไขปัญหาน้ำ และระบบบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับประเทศ ที่ครอบคลุมมิติการรับมือภัยพิบัติด้านน้ำ และการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับข้อเสนอเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีนวัตกรรม คือ การจัดตั้ง “กระทรวงทรัพยากรน้ำ” ที่มีการคำนึงหลักการสากล และการทำงานเชิงแนวดิ่งและแนวนอน มีนวัตกรรมตั้งแต่กระบวนการทำงานเชิงระบบ
เพื่อแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างก้าวกระโดด และให้เกิดการแบ่งประเภทของหน่วยงานตามภารกิจหลัก ให้ชัดเจน ปรับบทบาท หน้าที่และอำนาจ และโครงสร้าง ลดบทบาทการทำงานทับซ้อน เพื่อนำไปสู่การบูรณาการการทำงานที่เป็นเอกภาพ
และสร้างหน่วยงานอัจฉริยะ “สำนักงานเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรมด้านบริหารจัดการน้ำ” เพื่อเป็นมันสมอง ให้กับกระทรวงฯ ใช้รับมือกับปัญหาปัจจุบัน และความท้าทายใหม่ ๆ ในบริบทอนาคตได้อย่างเท่าทันและเชิงรุก
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านย่อมต้องการการเตรียมตัว และการปรับตัว จึงต้องมีกระบวนการ และกลไกสนับสนุน ติดตามงานที่จำเป็นในการปรับตัวทั้งระดับองค์กร และบุคคล เพื่อลดแรงเสียดทานและผลกระทบที่จะเกิดล่วงหน้า โดยแบ่งแนวทางการเปลี่ยนผ่านเป็น 2 ช่วงใหญ่คือ Quick Win และ Big Win
Quick Win ประกอบด้วย
1.จัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายฯ ในประเด็นที่ยังคงเป็นช่องว่าง รวมถึงรองรับการตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ และประเด็นที่สำคัญ
2. จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ/อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อให้การดำเนินการในระดับลุ่มน้ำและจังหวัด มีความต่อเนื่องและรองรับการทำงานของกรรมการลุ่มน้ำ และอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เชื่อมโยงเชิงพื้นที่ ลุ่มน้ำ และส่วนกลาง
3.จัดตั้งโครงการ Water Resources Intelligent Unit (WRIU) ภายใต้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยมีคณะอนุกรรมการแต่งตั้งจาก กนช. ให้เป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัวในการทำงานและตรวจสอบได้ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่โครงสร้างในระบบการบริหารจัดการน้ำใหม่
สำหรับช่วง Big Win เป็นการทำงานสอดรับกับช่วง Quick Win โดยเป็นช่วงขึ้นรูปกระทรวงทรัพยากรน้ำตามที่คณะทำงานด้านกฎหมายได้มีการออกแบบและ การจัดตั้งหน่วยงาน “Water Resources Intelligent Agency” ที่สมบูรณ์ต่อไป.