‘วิษณุ’ แจงปมต่างชาติซื้อที่ดิน เล็งออกกฎป้องกันต่างชาติรวมที่แปลงใหญ่
“วิษณุ” ตอบปมข้อกฎหมายให้ต่างชาติถือครองที่ดิน และบ้านพักได้ 1 ไร่ ชี้กฎกระทรวงยังไม่บังคับใช้ ให้กฤษฎีกาแก้ไข รวบรวมข้อเสนอแนะข้อกังวลจากทุกฝ่ายมาประมวลอีกครั้ง เล็งเข้มเรื่องซื้อที่ดินเปลี่ยนมือ ห้ามซื้อที่ดินติดกันป้องกันครอบครองที่ดินผืนใหญ่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้ต่างชาติถือครองที่ดิน 1 ไร่ แลกกับการลงทุน 40 ล้าน คงเงินลงทุน 3 ปี ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวแม้ ครม.จะเห็นชอบในหลักการแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ และขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และปรับปรุงรายละเอียดกฎหมายและนำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง
ทั้งนี้ในขั้นตอนการแก้ไขทบทวนร่างกฎกระทรวงของคณะกรรมการกฤษฎีการัฐบาลจะรับเอาข้อเสนอทุกอย่างมาพิจารณาถึงความเหมาะสมเพื่อให้กฎหมายนี้มีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยจะรับข้อเสนอทั้งหมดมาพิจารณาอีกครั้งทั้งเรื่องจำนวนวงเงินลงทุนจากที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ได้กำหนดไว้ว่าต้องลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ที่มีข้อเสนอให้เพิ่มเงินลงทุนในไทยมากขึ้น รวมถึงการคงระยะเวลาในการลงทุนในไทยจากที่ ครม.เห็นชอบให้คงเงินลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี
รวมทั้งข้อเสนอที่กำหนดว่าไม่ให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินแล้วขายต่อเปลี่ยนมือก็กำลังพิจารณา และไม่ให้ซื้อที่ดินแปลงที่ดินที่ใกล้กันเพื่อป้องกันการถือครองที่ดินขนาดใหญ่ด้วย
นายวิษณุกล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ปี 2545 โดยเมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปรัฐบาลก็เห็นสมควรว่าจะมีการหยิบกฎหมายขึ้นมาปรับปรุงอีกครั้งเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในกลุ่มที่มีความสามารถ และทักษะสูง
ส่วนปัญหาเรื่องของนอมินีที่มาถือครองที่ดินนั้นมีมาตลอด อาจจะบอกว่ามีตั้งแต่ปี 2470 ซึ่งหากไปดูแล้วการครอบครองที่ดินตั้งแต่มีกฎหมายลักษณะนี้แม้จะบอกว่าที่ครอบครองได้ตามกฎหมาย 1 ไร่นั้นมีเพียง 8 ราย แต่หากไปดูเงื่อนไขอื่นๆเช่นการเข้ามาครอบครองที่ดินในระดับ 100 – 200 ตารางวานั้นก็มีหลายรายอยู่แล้ว
“ทุกครั้งที่มีการหยิบยกกฎหมายลักษณะนี้ขึ้นมาพิจารณาก็จะมีข้อกล่าวหาเรื่องการขายชาติมาตลอด ผมเห็นมาตลอดตั้งแต่สมัยอยู่ในรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่โดนต่อต้านก็ถอนไป มาสมัยรัฐบาลทักษิณ ทำกฎหมายเรื่องนี้สำเร็จ และมาถึงรัฐบาลนี้ก็มีการหยิบกฎหมายเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาปรับแก้ไข โดยตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งทุกอย่างก็ยังแก้ไขได้”นายวิษณุกล่าว