รัฐ ‘ทบทวน’ ต่างชาติซื้อที่ดินหลังหลายฝ่ายรุมต้าน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎกระทรวงดังกล่าวยังไม่ได้ประกาศใช้ และรัฐบาลอยู่ระหว่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และปรับปรุงรายละเอียดกฎหมาย และนำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง
ทั้งนี้ในขั้นตอนการแก้ไขทบทวนร่างกฎกระทรวงของคณะกรรมการกฤษฎีการัฐบาลจะรับเอาข้อเสนอทุกอย่างมาพิจารณาถึงความเหมาะสมเพื่อให้กฎกระทรวงที่จะบังคับใช้นี้มีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยจะรับข้อเสนอทั้งหมดมาพิจารณาอีกครั้ง ดังนี้
1.จำนวนวงเงินลงทุนจากที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ได้กำหนดไว้ว่าต้องลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ที่มีข้อเสนอให้เพิ่มเงินลงทุนในไทยมากขึ้น
2.การคงระยะเวลาในการลงทุนในไทยจากที่ ครม.เห็นชอบให้คงเงินลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี
3.การเปลี่ยนมือที่มีข้อเสนอไม่ให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินแล้วขายต่อเปลี่ยนมือ
4.การกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันการซื้อที่ดินแปลงใกล้กัน ซึ่งจะป้องกันการถือครองที่ดินผืนใหญ่ของต่างชาติด้วย
แจงเหตุผลดึงต่างชาติลงทุน
นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ปี 2545 โดยเมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปรัฐบาลก็เห็นสมควรว่าจะมีการหยิบกฎหมายขึ้นมาปรับปรุงอีกครั้งเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในกลุ่มที่มีความสามารถ และทักษะสูง
ส่วนปัญหาเรื่องของนอมินีที่มาถือครองที่ดินนั้นมีมาตลอด อาจจะบอกว่ามีตั้งแต่ปี 2470 ซึ่งหากไปดูแล้วการครอบครองที่ดินตั้งแต่มีกฎหมายลักษณะนี้แม้จะบอกว่าที่ครอบครองได้ตามกฎหมาย 1 ไร่นั้น มีเพียง 8 รายเท่านั้น แต่หากไปดูเงื่อนไขอื่น เช่น การเข้ามาครอบครองที่ดินในระดับ 100-200 ตารางวา นั้นก็มีหลายรายอยู่แล้ว
“ทุกครั้งที่มีการหยิบยกกฎหมายลักษณะนี้ขึ้นมาพิจารณาก็จะมีข้อกล่าวหาเรื่องการขายชาติมาตลอด ผมเห็นมาตลอดตั้งแต่สมัยอยู่ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่โดนต่อต้านก็ถอนไป มาสมัยรัฐบาลทักษิณ ทำกฎหมายเรื่องนี้สำเร็จ และมาถึงรัฐบาลนี้หยิบกฎหมายเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาปรับแก้ไข โดยตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งทุกอย่างก็ยังแก้ไขได้” นายวิษณุ กล่าว
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธตอบคำถามเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โดยระบุแค่ว่า “เออๆ” ก่อนจะตัดบทก่อนออกจากวงสัมภาษณ์สื่อมวลชนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไป
“คลัง”แนะเพิ่มเงื่อนไขจ้างงาน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีลักษณะคล้ายเรื่องเดิมที่เคยมีในอดีตช่วงที่ไทยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ต้องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยเข้าใจว่าเป็นหลักการเดิมแต่มีเงื่อนไขของกลุ่มบุคคลเพิ่มเข้ามา ซึ่งจะเข้มงวดกว่ามาตรการในอดีตด้วย
ส่วนรายละเอียดเงื่อนไขที่กำหนดให้ชาวต่างชาติลงทุน เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ นั้น ควรจะเพิ่มหลักเกณฑ์เข้าไปเพื่อกระตุ้นการจ้างงานด้วยหรือไม่ จะต้องไปดูรายละเอียดเงื่อนไขของร่างกฎหมายที่ออกมาก่อน
ขณะที่ระยะเวลาในการลงทุนลดลงจากเดิม 5 ปี เหลือ 3 ปี เพียงพอหรือไม่ ซึ่งจะต้องดูเหตุผลในเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่แน่ใจในรายละเอียด แต่ก็ยังมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนจะช่วยประคองเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่นั้น ผู้ที่มาลงทุนในไทยอาจจะต้องการในที่อยู่ ที่พักพิง ก็เป็นรูปแบบนี้ไม่ได้ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา
“ผมยังไม่เห็นรายละเอียดร่างกฎหมาย แต่กฎหมายที่ออกมาเป็นการกำหนดเฉพาะกลุ่มเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา จึงยังไม่กล้าสรุปในรายละเอียดที่จะออกมา และไม่เห็นเอกสารในการถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอเข้า ครม. ซึ่งอาจจะผ่านรองปลัดการคลังท่านอื่น แต่เท่าที่ติดตามจากข่าวก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่กังวล เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มไว้ชัดเจนแล้ว”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์