เคาะกฎกระทรวงผลิตสุราฉบับใหม่ ปลดล็อก 'เบียร์เสรี' เอื้อ ‘สุราชุมชน’
ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุราฉบับใหม่ เปิดทางเบียร์เสรี ปลดล็อก จำนวนทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตขั้นต่ำทั้งหมด สรรพสามิต ระบุคราฟเบียร์ผลิตได้แล้ว แต่ต้องคุมมาตรฐาน พร้อมปรับเงื่อนไขสุราชุมชนขยายกำลังการผลิต
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขรายละเอียดของกฎหมายฉบับเดิม
ทั้งนี้ในร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. .... เป็นการปรับปรุงแก้ไขใบอนุญาต ซึ่งเดิมมีการกำหนดใบอนุญาต 2 ประเภท คือ การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ และสุรากลั่นชุมชน โดยยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตขั้นต่ำทั้งหมด
“การแก้กฎหมายครั้งนี้จะทำให้เบียร์ที่เป็นบริวผับ หรือเบียร์โรงเล็ก ต่อไปนี้ไม่ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และกำลังการผลิตขั้นต่ำก็ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว แต่จะมีการมาตรการเรื่องระเบียบของกรมโรงงานบางส่วน ทั้งสินค้า และเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องกำหนดไว้ตามกฎหมาย”
กฎหมายที่ปรับแก้ไขจะเป็นการปลดล็อกกรณีที่เป็นการค้า ส่วนกรณีที่ไม่ใช่การค้า ขณะนี้กรมฯ ได้อนุญาตให้สามารถผลิตได้ เช่น ทำเอง ดื่มเองภายในครัวเรือน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ ต้องขออนุญาตกรมฯ โดยมีกำลังการผลิตไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี และผู้ผลิตต้องบรรลุนิติภาวะไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
ขณะเดียวกันเมื่อผลิตเสร็จแล้วต้องให้กรมฯ ตรวจสอบคุณภาพก่อน เพื่อป้องกันสารปนเปื้อนตามมาตรฐานสากล
ขณะที่สุรากลั่นชุมชน เดิมกำหนดโรงเล็กกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า และกำลังคนไม่เกิน 7 คน ปัจจุบันขยายให้สำหรับโรงขนาดลางไม่เกิน 50 แรงม้า และกำลังคนไม่เกิน 50 คน
สำหรับเหตุผลความจำเป็นของเรื่อง กระทรวงการคลัง รายงานว่า เนื่องจากในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาข้อสังเกตและผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ. ศ. .... (นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะเป็นผู้เสนอ) ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติ ที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ
โดยคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าจากสภาพปัญหา และข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวกับการผลิตสุราซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น สามารถ ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องได้ โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตสุราที่ได้มาตรฐานเป็นรายกรณี จึงเห็นควรให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วจึงลงมติให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการ โดยเร็วต่อไป
ส่วนรายละเอียดของสาระสำคัญร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. .... มีดังนี้
1.เป็นการยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนสำหรับผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ ซึ่งกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท เพื่อลดข้อจำกัดและเป็นการส่งเสริมเสรีภาพในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตสุราตามเงื่อนไขที่เหมาะสม และมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการผลิตสุรา ขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าสู่ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ได้
2.ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ ระหว่าง 100,000 – 1,000,000 ลิตรต่อปี โดยกำหนดกรณีโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต ต้องเป็นโรงงานตาม กฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ที่มีมาตรฐานตามที่อธิบดีประกาศ กำหนด และต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับ การประกอบกิจการโรงอุตสาหกรรมสุรา
3.กำหนดให้ผู้ผลิตสุราชุมชนที่ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรามาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และไม่มี ประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตครบหนึ่งปี สามารถขออนุญาตเป็นโรงอุตสาหกรรม สุราที่มีกำลังการผลิตสูงกว่าห้าแรงม้าแต่ไม่เกินห้าสิบแรงม้าได้ โดยให้มีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกำกับดูแล ด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข เพื่อขยายโอกาสให้โรงอุตสาหกรรมสุราแช่ชุมชนและสุรากลั่นชุมชน ที่มีศักยภาพสามารถขยายธุรกิจได้อย่างยั่งยืนด้วยมาตรฐานในกระบวนการผลิตที่สูงขึ้น
4. ปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการในการขอใบอนุญาตผลิตสุราให้สามารถยื่นคำขอ ผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดให้สามารถรองรับการยื่นขออนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ นอกจากนี้ได้ปรับปรุงขั้นตอนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่เพื่อออกใบอนุญาตผลิตสุราให้มีความกระชับ รัดกุม ลดขั้นตอนที่เป็นการสร้างภาระแก่ผู้ขออนุญาตโดยไม่จำเป็น
5. กำหนดบทเฉพาะกาลสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ให้สามารถผลิตสุราต่อไปได้ตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตไว้ และในการพิจารณาใบอนุญาตต่อเนื่อง ของผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว ให้ใช้คุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับโรงอุตสาหกรรม ตามกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ได้อีกหนึ่งฉบับ เพื่อให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายเดิม มีเวลาในการปรับตัวให้เข้ากับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวงฉบับใหม่
สำหรับการดำเนินการดังกล่าว จะต้องออกกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 153 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นอำนาจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่เสนอในครั้งนี้ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของรัฐและ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เนื่องจากเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการควบคุมการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เกี่ยวกับระบบใบอนุญาตสำหรับสินค้าสุรา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและบรรลุวัตถุประสงค์
ทั้งในเชิงธุรกิจและประโยชน์ของรัฐในภาพรวม มิได้เป็นการลดอัตราภาษีจากอัตราที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่ส่งผลให้ฐานภาษีมีความเปลี่ยนแปลง จึงไม่กระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าสุรา
“การแก้ไขกฎหมายที่ออกมาครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น คราฟเบียร์ เดิมกำหนดต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี ตอนนี้ปลดล็อกแล้ว โดยสามารถผลิตคราฟเบียร์ได้ไม่ต้องมีทุนจดทะเบียนและทุนขั้นต่ำ แต่ก็อาจมีเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพ และสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”