กฤษฎีการับฟังความเห็นเปิดต่างชาติ ‘ซื้อ’ ที่ดิน
การอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อที่ได้ 1 ไร่ แบบมีเงื่อนไขตามร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ
การอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อที่ได้ 1 ไร่ แบบมีเงื่อนไขตามร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องเร่งรับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง และในการประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ ได้หารือประเด็นดังกล่าวด้วย
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา เปิดเผยหลังการประชุม ครม.ว่า ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้ว และส่งมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยตามขั้นตอนแล้วการพิจารณาตรวจแก้ร่างกฎกระทรวงในชั้นกฤษฎีกาจะนำเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำขึ้นสู่เว็บไซต์กลางของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อรับฟังความคิดเห็น โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน
ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกานำร่างกฎกระทรวงกลับมาให้ ครม.พิจารณา อาจมีความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจครอบคลุมระยะเวลาการลงทุนสั้นไปหรือยาวไป เงินทุนมากไปหรือน้อยเกินไป ซึ่งขึ้นกับ ครม.จะตัดสิน และการที่ ครม.ต้องการปรับแก้ไขจุดใดเพิ่มเติมเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย ด้านคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงฝ่ายปฏิบัติเท่านั้น
“โดยปกติขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยมาก เราก็จะมีหนังสือตอบเป็นข้อสังเกตมา และนำเข้าครม.อีกครั้งเพื่อให้ ครม.รับทราบ ส่วนรัฐบาลจะทำอย่างไรเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย”
นายปกรณ์ ตอบคำถามประเด็นความเป็นไปได้ในการปรับเงื่อนไขเป็นการเช่าแทนการซื้อเพราะมีการคัดค้านสูง ว่า ทำได้อยู่แล้วที่เรียกว่า ฟรีโฮล กับ รีทโฮล โดยฟรีโฮล คือ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส่วนรีทโฮล คือ เช่าระยะยาว ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับปัจจุบันสามารถทำได้เลย ภายใต้ประมวลแพ่ง กฎหมายที่ดิน ไม่ต้องมีสิทธิ์ก็ได้ มาเช่า ตราบใดที่เขามีสิทธิ์ที่จะอยู่ในราชอาณาจักรมาเช่าได้
ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการออกกฎหมายฉบับนี้ผู้เสนอกฎหมายระบุว่าเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่มีการย้ายฐานการผลิตเนื่องจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงต้องการต่างชาติที่มีกำลังทรัพย์เข้ามา
“การแก้กฎหมายนี้ต้องใช้เวลา แต่ระหว่างนี้ก็ใช้กฎหมายเก่าได้ แต่ปัญหาของกฎหมายเก่าเพราะกว้างเกณฑ์ไป แต่ฉบับใหม่ต้องการดึงดูดคนที่เป็นเป้าหมายจริงๆ เข้ามา”
ชี้กฎกระทรวงเข้มงวดขึ้น
ส่วนประเด็นการเปรียบเทียบระหว่างร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กับกฎกระทรวงฉบับปัจจุบัน นายปกรณ์ กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ ตรงกับวัตถุประสงค์มากขึ้นเพราะแต่เดิมกฎหมายนี้เขียนไว้อย่างกว้าง แต่ตอนนี้ต้องได้วีซ่าระยะยาว (LTR) ก่อน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะต้องเป็นการคัดกรองก่อนถึงจะยื่นขอซื้อที่ดินได้ ไม่ใช่ใครก็ได้เหมือนในอดีต และแม้จะมีการแก้กฎกระทรวงส่วนนี้ก็ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อที่ดินเพราะวิธีคิดของต่างชาติและคนไทยต่างกัน
“เราเอาวิธีคิดของคนไทย คือ เราต้องการกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อคอนโด เรายังซื้อคอนโดเลยนะ ทั้งที่คอนโดใหญ่ๆ ร้อยๆ ห้อง รู้หรือไม่ว่ามีกรรมสิทธิ์ส่วนกลาง กรรมสิทธิ์ห้องชุด สมมุติตึกพังขึ้นมา จะแบ่งทรัพย์กันยังไง มันเล็กๆ หมด คนไทยชอบระบบกรรมสิทธิ์ ชอบเป็นเจ้าของ แต่ฝรั่งชอบเช่าระยะยาว ตราบใดที่เช่าระยะยาวได้ เขาอยู่กันจนตาย”
++ ยัน ‘รวมแปลง’ ที่ดินทำได้ยาก
ในขณะที่ประเด็นการป้องกันการรวมเป็นที่ดินแปลงใหญ่ นายปกรณ์ กล่าวว่า การรวมที่ดินแปลงใหญ่ไม่มีอยู่แล้ว โดยที่มีคือเรื่องนอมินีทำไมไม่ไปไล่จับพวกนอมินี ที่ตอนนี้ทำกันอยู่น่ากลัวกว่าเยอะ ทำไมไม่จับ
“กฎกระทรวงฉบับปี 2545 ที่มีผู้ขอใช้สิทธิเพียง 8 คน เพราะไม่ได้ดึงดูด จึงไปแอบตั้งบริษัท ไปหาภรรยาคนไทย หาสามีไทยและมาซื้อที่ดิน ควรเอาใต้ดินขึ้นมาไว้บนดิน และจำกัดสิทธิ์ ซึ่งที่ดินโอนไปไหนไม่ได้ ยกไปไหนไม่ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ต่างชาติซื้อ ปัญหาอยู่ที่แลนด์ลอร์ดคนไทย ถือที่ดินเป็นหมื่น ๆ พัน ๆ ไร่ ในสภาก็มี เศรษฐีก็ถือ ทำไมไม่กระจายให้เป็นธรรม ต้องจัดการที่ต้นเหตุ ทำอย่างไรให้คนที่มีอยู่เยอะมาก เป็นร้อย เป็นพันไร่ ให้กระจายออกมาข้างนอก ดีกว่าไม่เล่นคำว่าขายชาติ”
++ เปรียบเทียบ กม. ‘ถือครอง’ ที่ดินของต่างชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น กล่าวว่า ใน ครม.มีการหารือกันในประเด็นนี้ โดยต้องการให้มีการชี้แจงในรายละเอียดทุกอย่างโดยละเอียดว่าที่มาที่ไปของกฎหมายนี้มีที่มาอย่างไร มีการแก้ไขอย่างไร รวมทั้งเปรียบเทียบกับต่างประเทศด้วยว่ามีกฎหมายลักษณะเดียวกันอย่างไร
ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ด้วยว่ากฎกระทรวงนี้ออกมาเนื่องด้วยเหตุผลอะไรให้อธิบายตรงนี้ให้ชัดเจน