เมื่อลาวมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ตอนจบ) | ปรมะ ตันเดชาวัฒน์
จากข้อมูลการเดินทางของเส้นรถไฟจีน-ลาว ในประเทศลาว ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์การขนส่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
หากคำนวณจากคุนหมิงถึงเวียงจันทร์ หัวเมืองสำคัญทางการค้าของทั้งสองประเทศจะมีระยะทางรวม 922.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 8 ชั่วโมง และสถานีเวียงจันทร์ห่างจาก จ.หนองคายเพียง 24 กิโลเมตร
จึงอาจเป็นการขยายโอกาสการทำธุรกิจข้ามชายแดนไทยลาวได้อย่างง่ายขึ้น ดังนั้น เมื่อมีปัจจัยของการขยายภาคการขนส่ง ย่อมส่งผลโดยตรงกับภาคธุรกิจ
เช่น ด้านสินค้า ด้านการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ด้านการท่องเที่ยว ด้านการขนส่ง เนื่องจากจีนตอนใต้และพื้นที่ข้างเคียงมีประชากรมากกว่า 210 ล้านคน
รัฐบาลจีนสนับสนุน Ecosystem ด้านการลงทุนและเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจ SME แบบ Cross-Border E-commerce(CBEC) คือ การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไปยังพื้นที่ปลอดภาษีอากร (Free Trade Zone) ซึ่งจะผ่านกฎระเบียบพิเศษของศุลกากร
เช่น สามารถนำเข้าไปยังพื้นที่จัดเก็บได้ก่อน และจะจ่ายภาษีเมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้า ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งแตกต่างกับการนำเข้าแบบทั่วไป คือต้องเสียภาษีร้อยละ 15-40 ต้องจ่ายภาษีทันทีที่นำเข้า และจำเป็นต้องมีใบอนุญาตนำเข้าสินค้า ทำให้มีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทางการค้าอย่างเห็นได้ชัด
ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการนำสินค้าไปขายยังตลาดต่างประเทศด้วย CBEC Model เอกสารต่างๆ ในการขออนุมัติจะลดลงเป็นอย่างมาก อีกทั้งสามารถขนส่งสินค้าไปจัดเก็บในพื้นที่ปลอดภาษี เมื่อสามารถหาผู้ซื้อได้จึงทำการจัดส่งสินค้า ลดภาระการสต๊อกสินค้าและสินค้าเน่าเสีย
ทำให้ลดต้นทุนด้านเวลา ต้นทุนการขนส่งและต้นทุนด้านการจัดเก็บสินค้าได้เป็นอย่างดี ทางการค้าเมื่อเราสามารถทำตลาดให้ผู้ซื้อมีความต้องการสินค้า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของตลาดเพราะหากทำไม่ได้ นั้นหมายความว่าเราอาจสูญเสียตลาดในอนาคต
ขยายระบบนิเวศธุรกิจ (Ecosystem) และขยายโอกาสสร้างอาชีพในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่เพียงแต่จะขยายภาคธุรกิจสินค้าที่ได้กล่าวไปข้างต้น บริเวณพื้นที่ปลอดภาษีอากร ยังสามารถมีธุรกิจเพิ่มขึ้นได้
เช่น โกดังจัดเก็บสินค้าให้เช่า เป็นรูปแบบของการปล่อยให้ผู้ประกอบการที่มีสินค้าแต่ไม่มีพื้นทีจัดเก็บสินค้ามาเช่าเพื่อจัดเก็บสินค้ารอขายไปยังตลาดต่างประเทศ
ปัจจุบันพื้นที่ผ่านแดนบริเวณชายแดนไทย-ลาวมีทั้งสิ้น 20 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี อุตรดิตถ์ และพะเยา มีการนำเข้ามูลค่าประมาณ 79,555 ล้านบาท โดยมีรายการ เชื้อเพลิง ทองแดงและทองคำ เป็นสินค้า 3 อันดับแรก และการส่งออกมูลค่ากว่า 117,891 ล้านบาท
ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดีเซล สินค้าปศุสัตว์และน้ำมันสำเร็จรูป เครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่ และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
ในปี 2563 จีนนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยผ่านช่องทาง CBEC มูลค่าประมาณ 71,676 ล้านบาท มูลค่าการเติบโตร้อยละ 130 เป็นอันดับ 4 รองจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น แม้ว่าสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าปศุสัตว์และการเกษตร
เช่น ผลไม้ ข้าว ยางพารา ไก่แช่แข็ง ถูกนำส่งออกทางเรือมากกว่า 80% หากสามารถขนส่งผ่านรถไฟความเร็วสูงจะเป็นการสร้างข้อได้เปรียบดั่งที่กล่าวไว้ในกลยุธ์การค้าข้างต้น
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2563 จีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ว่าด้วยการลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเลือกที่จะพึ่งพาต่างประเทศเพียงแค่จำเป็นเพียงเท่านั้น โดยแบ่งเป็น
- กลุ่มที่จีนจะทำเอง เช่น ทองแดง ยางสังเคราะห์ เครื่องกำเนิดแหล่งพลังงานไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า
- กลุ่มที่จีนจะสร้างนวัตกรรม เช่น อุปกรณ์สื่อสารและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
- กลุ่มที่ยังต้องมีการนำเข้า เพราะยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
จากนโยบายดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นกลยุทธ์ปิดประเทศแบบไม่สมบูรณ์ แต่นั้นก็ทำให้จีนสามารถยืนหยัดประเทศได้ในสภาวะที่ทั่วทั้งโลกเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจเพราะโควิด19 และอาจยังเป็นกลุยทธ์เพื่อระดมกำลังสมองของคนในประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศให้กลายเป็นมหาอำนาจของโลกอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า เมื่อจีนสามารถติดต่อโดยตรงได้กับนานาประเทศ จะเป็นการสร้างข้อได้เปรียบทางการค้าเป็นอย่างมาก และหากเราหลงลืมว่ากลยุทธ์การแข่งขันเปรียบเหมือนการศึกสงคราม ประเทศลาวอาจกลายเป็นพันธมิตรของมหาอำนาจ คล้าย กลยุทธ์ “เหาฉลาม” คือเกาะฉลามแล้วโตไปพร้อมกัน
300 ปีก่อนศริสต์ศักราช จีนได้ติดต่อค้าขายกับโลกตะวันตก ผ่าน “เส้นทางสายไหม” (Silk Road) เพื่อสร้างกำลังอำนาจให้กับประเทศ แต่เมื่อผ่านมาเกือบ 2,300 ปีในยุคปัจจุบัน จีนอาจต้องการสร้างเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ โดยมีเป้าหมายคือโลกตะวันออก ก็อาจเป็นได้