รัฐเร่งเยียวยาเกษตรกรน้ำท่วม 6.2 แสนราย

รัฐเร่งเยียวยาเกษตรกรน้ำท่วม 6.2 แสนราย

กระทรวงเกษตรเดินหน้าฟื้นฟูเกษตรกร เร่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย ติดตามเร่งรัดให้การช่วยเหลือเยียวยาไปถึงมือผู้ประสบภัยโดยเฉพาะเกษตรกรโดยเร็วที่สุด คาดว่ามีพื้นที่เสียหายกว่า 5.1 ล้านไร่เกษตรกรได้รับผลกระทบ 6.2 แสนราย

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อลงกรณ์ พลบุตร ระบุ ความคืบหน้าการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรซึ่งในเบื้องต้นมีพื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหายทั่วประเทศประมาณ 5.1 ล้านไร่เกษตรกรได้รับผลกระทบประมาณ 6.2 แสนราย ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งลงพื้นที่สำรวจความเสียหายหลังน้ำลดลง โดยขณะนี้มีบางพื้นที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลความเสียหาย เพื่อเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่เสียหายและให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งการช่วยเหลือจะได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งติดตามเร่งรัดให้การช่วยเหลือเยียวยาไปถึงมือผู้ประสบภัยโดยเฉพาะเกษตรกรโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ การเยียวยาเกษตรกรจะเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 

โดยมีอัตราการช่วยเหลือคือ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ และไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง และอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือแล้ว

หนุนสหกรณ์ฯเสริมแกร่งเกษตรกร

 

นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายการปฏิบัติราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้แก่ข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีภารกิจที่ทำงานในการส่งเสริม พัฒนา และกำกับดูแลสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร และได้ทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องเกษตรกรมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง 

ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการนำนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคการเกษตรผ่านสถาบันเกษตรกร และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่จะให้สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรทั่วไปได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

โดยระบบสหกรณ์ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน จะต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการกำกับดูแล แนะนำ และสร้างระบบบัญชีที่มีมาตรฐาน ลงพื้นที่เข้าตรวจการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทุกแห่ง แนะนำ ตรวจสอบให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรปิดบัญชีได้ตามกฎหมายมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยง ป้องกันการเกิดการทุจริตให้มากที่สุด ประสานความร่วมมือและช่วยกันทำงานเพื่อยกระดับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีมาตรฐานสูงขึ้น