'สุพัฒนพงษ์' ตอบปมต่างชาติถือครองที่ดิน ยันไม่ขายชาติ ชี้ กม.ไทยเข้มงวด
"สุพัฒนพงษ์" ลั่นแก้กฎกระทรวงต่างชาติถือครองที่ดิน ไม่ขายชาติเพราะไม่ได้แก้สาระสำคัญกฎหมายเดิมที่ประกาศเกณฑ์มาตั้งแต่ปี 2545 ยันไทยกฎหมายเข้มงวดกว่าหลายประเทศ ชี้หากจะแก้เป็นการเช่าที่ดินระยะยาวต้องแก้ พ.ร.บ.
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงประเด็นร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … ที่ให้ต่างชาติถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องมีการลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และคงการลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปีว่าในเรื่องนี้ตนจะไปตอบกระทู้สดที่สภาผู้แทนราษฏร และพร้อมที่จะชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจ โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมเป็นเพียงการปรับเรื่องระยะเวลาจากการคงเงินลงทุนจากเดิม 5 ปีเป็น 3 ปี
นอกจากนี้กฎกระทรวงฉบับนี้ยังมีความเข้มงวดมากขึ้นเพราะเป็นการพิจารณารวมกับเรื่องการให้วีซ่าระยะยาวกับชาวต่างชาติ (LTR) ซึ่งมีกลุ่มที่กำหนดไว้ 4 กลุ่ม ต่างจากเดิมที่ใครก็ได้ที่เข้ามาลงทุนตามเงื่อนไขแล้วซื้อที่ดินในไทยได้ ทั้งนี้ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศส่วนน้อยที่วางกฎหมายเรื่องนี้ไว้เข้มงวด เมื่อเทียบกับหลายประเทศลองไปดูได้ว่าเขามีกฎหมายในเรื่องนี้ที่ผ่อนปรนมากกว่าไทยไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และสิงคโปร์
“เรื่องนี้ไม่ใช่การขายชาติ เพราะกฎหมายนี้ก็ออกมาตั้งแต่ปี 2542 ถ้าขายก็ต้องขายตั้งแต่ปี 2542 แล้ว เพราะกฎหมายออกปีนั้น และหลักเกณฑ์ต่างๆก็กำหนดมาตั้งแต่ปี 2545 แล้ว ที่ปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ก็มีแค่เพียงเรื่องระยะเวลาการคงเงินลงทุน
ซึ่งในมุมมองตนคงไม่จำเป็นที่จะต้องทบทวนอะไร แต่เนื่องจากเป็นการแก้กฎกระทรวงก็สามารถที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่การแก้ไขในระดับ พ.ร.บ.ซึ่งเราก็ทดลองที่จะทำดู หากครบกำหนดระยะเวลาแล้วมีปัญหาก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนและยกเลิกได้เมื่อใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการเช่าที่ดินระยะยาวแทนได้หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าก็สามารถที่จะทำได้แต่การเช่าที่ดินของต่างชาตินั้นมีการกำหนดเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ให้มีการเช่าที่ดินได้ 30 ปี และต่อได้อีก 30 ปี หากจะมีการแก้ไขในส่วนนี้ก็ต้องมีการแก้ พ.ร.บ.แทนว่าจะให้เช่าในระยะเวลาเท่าไหร่