ชงผู้นำเอเปค รับรองแผนงานขับเคลื่อน FTAAP
ไทยเตรียมชงผู้นำเอเปคออกแถลงการณ์รับรองแผนงานขับเคลื่อน FTAAP หลังไม่มีความคืบหน้ามากว่า 10ปี หวังเป็นจุดเริ่มต้นปูทางสู่การจัดทำ FTAAP เพื่อหนุนเศรษฐกิจในกลุ่ม 21 เขตเศรษฐกิจ เผยแผนงานมีกรอบทำงาน 4 ปี
ระหว่างวันที่ 17–19 พ.ย.2565 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ไฮไลท์สำคัญด้านเศรษฐกิจครั้งนี้ที่ต้องจับตาคือ ไทยจะนำเสนอแผนงานการขับเคลื่อนเอเปคเพื่อกำหนดเป้าหมายสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) โดยจะผลักดันให้ผู้นำเอเปคออกแถลงการณ์รับรองแผนงานดังกล่าว
การจัดทำ FTA ระหว่างสมาชิกเอเปค หรือ FTAAP เป็นข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC) ต่อผู้นำเอเปคเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก เพื่อลดอุปสรรคและส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างกัน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา การริเริ่ม FTAAP ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
เมื่อไทยได้กลับมาเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปค FTAAP จึงถูกหยิบเป็นประเด็นสำคัญ เพราะเป็นช่วงที่สมาชิกเอเปคเผชิญกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อเปิดเสรี ลดอุปสรรคการค้าการลงทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อและอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ โดยการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับ ABAC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นพ้องว่าเขตเศรษฐกิจเอเปคจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม “อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ถ้า 21 เขตเศรษฐกิจเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็จะคุยกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการทำตามแผนงาน 4 ปี คือ ตั้งแต่ปี2566–2569 และในระหว่างที่ดำเนินการ สามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขกิจกรรมได้ตลอดเวลา
หากมีประเด็นสำคัญที่เห็นควรที่จะต้องเพิ่มเข้าไป เมื่อครบ 4 ปีแล้ว สมาชิกก็จะมาตกลงกันว่าจะไปสู่ FTAAPแบบไหน เพื่อให้การทำ FTAAP สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม
เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)เป็น FTA ของกลุ่มความร่วมมือกลุ่มเศรษฐกิจการค้าเอเปค โดยมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มีจีดีพี รวมกัน มูลค่า 52 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 62% หรือ 2 ใน 3 ของจีดีพีของโลก
หากการทำ FTAAP ได้สำเร็จ FTAAP ก็จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดใหญ่กว่าเขตการค้าเสรี“อาร์เซ็ป”ที่ปัจจุบันถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว จึงถือเป็นความท้าทายสำคัญของไทยในฐานะการเป็นเจ้าภาพเอเปคที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการมุ่งสู่การจัดทำ FTAAP ให้ได้ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ในปี 2040