การดำเนินนโยบายและมาตรการของรัฐบาล ประชาชนควรตั้งคำถามอะไร | ณดา จันทร์สม
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนร่วมกับนักวิชาการหลายท่านได้มีโอกาสทำงานวิจัยประเมินผลโครงการ ที่ได้รับงบประมาณตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท
เพื่อศึกษาถึงผลกระทบต่อการบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” ซึ่งเป็นมิติของการพัฒนาครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการศึกษาเน้นให้น้ำหนักกับการฟื้นฟูสีเขียว (Green Recovery) และการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Development)
รวมถึงการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ซึ่งเป็นกลไกเพื่อการบรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในความพยายามของนานาประเทศเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การศึกษาในโครงการวิจัยดังกล่าว ได้ศึกษาถึงเกณฑ์ในการประเมินโครงการของภาครัฐว่าจะพิจารณาอย่างไรจึงจะครอบคลุมมิติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และเห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ/กิจกรรมได้
การทบทวนวรรณกรรม พบว่า องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD, 2021) ได้เสนอเกณฑ์ในการประเมิน (Evaluation Criteria) นโยบายและมาตรการของรัฐ แบ่งออกเป็น 6 มิติหลัก และเมื่อได้ใช้เป็นกรอบในการประเมินโครงการที่ศึกษา
พบว่า เป็นเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก และสามารถนำมาใช้ในการประเมินนโยบาย มาตรการ กลยุทธ์ แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่รัฐบาลเสนอเพื่อดำเนินการหรือได้ดำเนินการไปแล้ว
ในที่นี้จะกล่าวถึง นโยบาย มาตรการ กลยุทธ์ แผนงาน/โครงการ เหล่านั้นของรัฐบาล ว่าเป็น “การแทรกแซง” (intervention) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือให้เกิดผลสัมฤทธิตามที่คาดหวังของนโยบายฯ ที่ดำเนินการ ซึ่งโดยหลักสำคัญแล้ว คือ เพื่อการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่กำหนดและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
เกณฑ์การประเมินของ OECD เป็นองค์ประกอบของข้อคำถาม 6 มิติ ได้แก่
1) ความเกี่ยวข้อง (Relevance) เป็นการตั้งคำถามว่า “การแทรกแซงนั้นเป็นการทำสิ่งที่ถูกต้อง (Doing the Right Things) หรือไม่?" ขอบเขตที่วัตถุประสงค์และการออกแบบของการแทรกแซงตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งหมายถึง บุคคล กลุ่ม หรือองค์กร ทั้งที่เป็นเป้าหมายได้รับประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อมจากการแทรกแซงนั้น
มีความไวต่อสภาวะเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความเสมอภาค สภาพสังคม เศรษฐกิจการเมือง และสถานภาพของสมรรถนะที่เป็นอยู่ และให้ลำดับความสำคัญในสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันในระดับโลก ระดับประเทศ รวมถึงระดับพันธมิตร/สถาบันที่เกี่ยวข้อง และการแทรกแซงนั้นยังจะดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
2) ความสอดคล้อง (Coherence) เป็นการตั้งคำถามว่า “การแทรกแซงนั้นมีความเหมาะสมในระดับใด?” มีความเข้ากันได้ของการแทรกแซงนั้นกับการแทรกแซงอื่น ๆ ในประเทศ ในภาคส่วนต่าง ๆ หรือในระดับสถาบัน รวมถึงการประสานกันภายใน หมายถึง การทำงานร่วมกันและการเชื่อมโยงระหว่างการแทรกแซงนั้นและการแทรกแซงอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยสถาบัน/รัฐบาลเดียวกัน
ความสอดคล้องกับบรรทัดฐานและมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสถาบัน/รัฐบาลนั้นยึดมั่น และการเชื่อมโยงกันภายนอก หมายถึง ความสอดคล้องของการแทรกแซงนั้นกับการแทรกแซงของประเทศอื่น ๆ ในบริบทเดียวกัน ซึ่งรวมถึงความเกื้อกูล ความกลมกลืน และการประสานงาน และขอบเขตการทำงานที่ทำให้เพิ่มมูลค่าได้โดยไม่เกิดการทำงานซ้ำซ้อน
3) ประสิทธิผล (Effectiveness) เป็นการตั้งคำถามว่า “การแทรกแซงบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่?” ขอบเขตของความสำเร็จ หรือที่คาดว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ของการแทรกแซงนั้น รวมถึงผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ
4) ประสิทธิภาพ (Efficiency) เป็นการตั้งคำถามว่า “ทรัพยากรที่ถูกใช้ไปทำงานได้ดีในระดับใด?” การนำส่งผลผลิตและผลลัพธ์ของการแทรกแซงนั้น เป็นไปอย่างประหยัด คุ้มค่า และทันเวลา
5) ผลกระทบ (Impact) เป็นการตั้งคำถามว่า “การแทรกแซงทำให้เกิดผลที่สร้างความแตกต่างอย่างไร?” การพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซง ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะสร้างผลกระทบต่อไป ผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ และผลกระทบที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจไว้ ทั้งผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ รวมถึงผลที่เกิดตามมาทางอ้อม ผลรอง และผลที่อาจเกิดขึ้น
โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงในระบบหรือบรรทัดฐานแบบองค์รวมและยั่งยืน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศ และสิ่งแวดล้อม
6) ความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการตั้งคำถามว่า “ผลประโยชน์จะยังคงอยู่หรือมีแนวโน้มที่จะต่อเนื่องไปได้หรือไม่? ขอบเขตที่ผลประโยชน์สุทธิของการแทรกแซงดำเนินต่อไปหรือมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป รวมถึง ศักยภาพทางการเงิน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสถาบันของระบบที่จะรักษาผลประโยชน์สุทธิให้คงอยู่ได้เมื่อเวลาล่วงไป
ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ความยืดหยุ่น ความเสี่ยง และความเป็นไปได้ที่ผลประโยชน์สุทธิจะดำเนินต่อไปในระยะปานกลางและระยะยาว
นอกจากเกณฑ์การประเมินทั้ง 6 มิติดังกล่าวแล้ว OECD ได้เสนอหลักการสำคัญของการนำเกณฑ์ไปใช้ 2 ประการ ได้แก่ หลักการที่หนึ่ง การใช้เกณฑ์เพื่อสนับสนุนการประเมินที่เป็นประโยชน์และได้คุณภาพ ควรมีการปรับบริบทให้สอดคล้องกับนโยบายหรือการแทรกแซงแต่ละเรื่อง และทำความเข้าใจบริบทของแต่ละการประเมินให้ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง
หลักการที่สอง การใช้เกณฑ์ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการประเมิน ไม่ควรใช้เกณฑ์ในลักษณะกลไก แต่ควรยืดหยุ่นและปรับแต่งให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประเมิน ลักษณะเฉพาะของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความพร้อมใช้งานของข้อมูล ข้อจำกัดของทรัพยากร เวลา และสภาพเฉพาะอื่น ๆ ได้
จากข้อคำถามสำหรับการประเมินทั้ง 6 มิติและหลักการที่ใช้ประกอบข้างต้น หากลองใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินและตั้งคำถามกับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังเป็นประเด็นให้ถกเถียงกัน
เช่น การเปิดทาง "ต่างชาติซื้อที่ดินไทย" ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย นโยบายกัญชาเสรีเพื่อสุขภาพและการแพทย์ ฯลฯ
หรือใช้เป็นกรอบการประเมินแผนงาน/โครงการภาครัฐที่มีการดำเนินการ เช่น โครงการ ‘คนละครึ่ง’ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ‘โคกหนองนาโมเดล’ ‘1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่’ ฯลฯ เพื่อพิจารณาว่านโยบาย มาตรการ หรือแผนงาน/โครงการเหล่านั้น มีความเหมาะสมและเป็นมาตรการที่ส่งผลดีกับการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและการกินดีอยู่ดีของประชาชนได้จริง มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและนำส่งผลผลิต ผลลัพธ์ และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีผลกระทบในทางลบในระดับที่รุนแรงจนเกินการควบคุม รวมถึง ผลประโยชน์มีความต่อเนื่องและยั่งยืน
อันนี้ก็คงต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนคงต้องร่วมกันตั้งคำถาม และลองใช้เกณฑ์การประเมินเพื่อพิจารณากัน อาจจะทำให้มองเห็นได้ว่า โครงการใดควรขยายผลได้ไปต่อ หรือโครงการใดควรยุติและเลิกผลักดันกันต่อไป.
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
รศ.ดร.ณดา จันทร์สม
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
email: [email protected]