เบื้องหลัง ถอน กม.ต่างชาติซื้อที่ดิน ครม.ยกกฎใหม่ ใช้รับฟังความคิดเห็น
เปิดเบื้องหลังถอนวาระแก้กฎกระทรวงถือครองที่ดินต่างชาติพ้นครม.มหาดไทยชงหนังสือด่วนที่สุดถึง สลค.ขอบรรจุเรื่องเป็นวาระพิจารณาวาระแรกในการประชุม ครม. 8 พ.ย. ยกกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ ตีตกร่างฯกฎกระทรวงปี 65
แม้จะได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งในเรื่องของการถอยของรัฐบาลในการแก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ.... ที่ได้มีการขอถอนมติออกจาก ครม.แบบเร่งด่วนภายหลังมีกระแสคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย
โดยขั้นตอนการถอนนร่างกฎกระทรวงที่ ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมานั้นกระทรวงมหาดไทยได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 7 พ.ย.2565 มายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขอบรรจุเรื่องการขอถอนร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นวาระการพิจารณาของ ครม.ในวาระที่ 1 ของการประชุม ครม.วันที่ 8 พ.ย.2565 ทันที
แม้จะมีการส่งสัญญาณจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องในส่วนของรัฐบาลทั้งจากพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน รวมถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่พูดเป็นเสียเดียวกันว่าพร้อมถอยหากประชาชนไม่สบายใจมาตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
หากแต่การจะถอนมติ ครม.เรื่องนี้ออกไปได้ก็ต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ในแง่ของกฎหมายด้วยเพราะร่างกฎกระทรวงที่มีการแก้ไขนั้นได้ผ่านการตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย
กระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงต่อ ครม.ในสาระสำคัญและข้อเท็จจริงของกฎหมายว่าการถอนร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ว่าแม้จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านแล้วและได้มีการส่งหนังสือของกรมที่ดินที่ได้มีการบันทึก ลับที่ มท.0505.4/3855 ลงวันที่ 6 ก.ย.2565 มายัง สลค.เพื่อเป็นความเห็นประกอบการปรับปรุงร่างกฎกระทรวงฉบับนี้แล้ว แต่เนื่องจากในปีนี้มีการประกาศ “กฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ.2565” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาและมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 8 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา
โดยสาระสำคัญคือ การแก้ไข หรือออกกฎหมายหรือกฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการขออนุญาต ขออนุมัติ ขอความเห็นชอบ จดทะเบียน ขึ้นทะเบียน แจ้ง ขอประทานบัตร ขออาชญาบัตร ร่างกฎที่กำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือโดยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ในการประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตของประชาชน หรือในการติตต่อกับหน่วยงานของรัฐ หรือยื่นเอกสารใด ๆ ให้หน่วยงานของรัฐ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของประชาชนก่อน
กระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่าการแก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ... นั้นไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ.2565 ตั้งแต่ต้น
จึงเป็นที่มาที่ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบายกับผู้สื่อข่าวว่าร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เมื่อออกจาก ครม.แล้ว หากรัฐบาลจะเดินหน้าต่อกระทรวงหมาดไทยต้องไปเริ่มนับ 1 ใหม่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรอบด้านก่อนถึงจะมาเสนอ ครม.รับทราบ
ส่วนจะกลับมาเข้า ครม.ทันในสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่าไม่สามารถที่จะตอบได้ เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายตัดสินใจ