เอเปคและแบบแผนทางเศรษฐกิจใหม่ | สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
การประชุมสุดยอดความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 14-19 พ.ย.นี้ กำลังถูกทำให้เป็นงานมหกรรมแห่งความรื่นเริง มากกว่าจะเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ จะมานั่งหารือกันอย่างจริงจังว่าจะผลักดันวาระสำคัญว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกกันอย่างไร
มีการเชิญผู้นำที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปค เช่น มกุฎราชกุมาร มูฮัมหมัด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดิอาระเบีย ผู้อื้อฉาว และ ประธานาธิบดี แอมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส มาเป็นแขกเจ้าภาพเพื่อสร้างสีสันประกอบการประชุม
รัฐบาลไทยลงทุนมากกว่า 3,200 ล้านบาทเพื่อจัดการประชุมทุกระดับตั้งแต่ คณะทำงาน เจ้าหน้าที่อาวุโส รัฐมนตรีและระดับผู้นำหัวหน้ารัฐบาลหรือประมุขของรัฐ ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย เป็นไฮไลต์อันเป็นที่สุดของงานมหกรรมแห่งการประชุมระดับโลกครั้งนี้ ทางการระดมพลไม่ต่ำกว่า 25,000 คนเพื่อรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยให้กับการประชุมสุดยอดในห้วงกลางเดือนนี้
รัฐบาลใช้งบประมาณสำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานประชุมเอเปคราว 500 ล้านบาทเพื่อบอกให้ประชาชนไทยรับทราบว่าจะมีการประชุมระดับโลกและให้เตรียมตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดี
"มากกว่า" จะพยายามทำให้เนื้อหาของการประชุมเอเปคแทรกซึมเข้าไปสู่ความรับรู้ของประชาชน หรือเพื่อระดมการมีส่วนร่วมในการผลักดันวาระเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสิ่งแวดล้อมตามวัตถุประสงค์หลักของเอเปค
ถึงอย่างนั้นก็ตาม เอเปคก็ได้ชื่อว่าเป็นการประชุมที่มีเนื้อหาสาระแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งขึ้นในปี 1989 ด้วยเจตนาที่จะผลักดันการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงประการหนึ่งคือ
เอเปคไม่ใช่การรวมกลุ่มหรือผนึกกำลังทางเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลไทยโหมโฆษณา หากแต่เป็นกลุ่มปรึกษาหารือ (consultative forum) เพื่อให้สมาชิกได้ปรับนโยบายเศรษฐกิจของตนเอง ให้เข้ากับสถานการณ์ และได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกอย่างเสมอภาคเท่าเทียม
การดำเนินการใดๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเวทีนี้จึงเป็นเรื่องของความสมัครใจไม่มีผลผูกพันอะไร จะทำอะไรมากน้อยแค่ไหนก็ตามแต่จะเห็นสมควรกัน
ทิศทางที่เอเปคต้องเดินไปและสิ่งที่สมาชิกเอเปคจะต้องดำเนินการเพื่อปรับนโยบายให้สอดคล้องทั้งในลักษณะปัจเจกและในลักษณะรวมหมู่ นั้นปรากฏอยู่ในเอกสารสำคัญ 2 ฉบับคือ
1.วิสัยทัศน์ปุตราจายา (Putrajaya Vision 2040) ซึ่งเห็นชอบกันในปี 2020 เมื่อมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ
2.แผนปฏิบัติการโอแตโรอา (Aotearoa Plan of Action) ซึ่งเห็นชอบกันตอนที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพเมื่อปีที่แล้ว
วิสัยทัศน์ที่เอเปคกำหนดกันเอาไว้คือ เอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง มีพลวัตร ยืดหยุ่นคงทน และสงบสันติภายในปี 2040 เพี่อความมั่งคั่งของทุกคนและคนรุ่นใหม่ในอนาคต ในนั้นกำหนดเอาไว้ว่าการพัฒนาจะต้องมีเครื่องยนต์สำคัญ 3 ตัวเป็นกำลังขับดันสำคัญ
ตัวแรกคือ การค้าและการลงทุน โดยเอเปคจะร่วมกันผลักดันการค้าการลงทุนที่เสรี เปิดกว้าง เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส คาดหมายได้และการลงทุนนั้นจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเสมอ เอเปคมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในอันที่จะสร้าง “เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก” (Free Trade Area of the Asia-Pacific)
เครื่องยนต์ตัวที่สองคือ นวัตกรรมและดิจิทัล โดยเอเปคมุ่งหวังที่จะสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจอันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับดัน จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสำรวจนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ว่าสอดคล้องหรือเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและเศรษฐกิจใหม่อย่างไร
ส่วนเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายคือ การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เสมอภาค มั่นคง สมดุลและเข้มแข็ง เพื่อให้มั่นใจว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะสามารถรับมือกับผลกระทบใดๆอันเกิดจากวิกฤตการณ์ในทุกด้าน โรคระบาด ภัยพิบัติ และภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ที่จะต้องเน้นย้ำสำหรับการใช้เครื่องยนต์ตัวนี้ ต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นพื้นฐานสำคัญ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ และรับมือกับวิกฤตการณ์ในทุกรูปแบบได้อย่างเหมาะสม
วิสัยทัศน์ดังกล่าวข้างต้นจะถูกแปรเป็นการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดสำฤทธิผลโดยแผนปฏิบัติการโอแตโรอา ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการขับเคลื่อนเครื่องยนต์สามตัวเอาไว้ เช่น ในเรื่องการค้าและการลงทุน เขตเศรษฐกิจสมาชิกแต่ละเขตจะต้องดำเนินการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนโดยให้มีความเสรี เปิดกว้าง เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส คาดหมายได้
ส่วนในลักษณะรวมหมู่นั้นเขตเศรษฐกิจสมาชิกจะต้องลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุด ต้องเสริมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าให้เข้มแข็ง ปฏิรูปกฎระเบียบทางด้านการค้าต่างๆ เป็นต้น
ที่สำคัญเขตเศรษฐกิจใดที่ได้มีภาระผูกพันกับองค์การการค้าโลกเอาไว้ในทางใดทางหนึ่ง จะต้องเร่งปฏิบัติให้ได้ตามนั้นถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่สมควรจะทำ
อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการไม่ได้พูดถึงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกมากนัก แต่ในที่นี้มีความจำเป็นต้องอธิบายสักเล็กน้อยว่า คำว่าเขตการค้าเสรีอาจจะไม่ได้หมายถึงการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันก็ได้ แต่อาจจะมีความหมายเพียงแค่พยายามจะเปิดเสรีกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อทำให้การค้ามีความครอบคลุมและก้าวหน้าไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อีกประการหนึ่งจะต้องเข้าใจว่าในภูมิภาคนี้มีความตกลงการค้าเสรีอยู่มากมาย เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) กรอบทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ซึ่งรวมเอาเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคจำนวนมากเข้าไว้ด้วยกันอยู่แล้ว อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องทำความตกลงอะไรกันเพิ่มเติมอีก
ประการสำคัญสมาชิกบางราย เช่น ไต้หวัน มีปัญหาทางการเมืองและขัดแย้งเรื่องอำนาจอธิปไตยกับจีน อาจจะไม่สามารถลงนามทำความตกลงอะไรกันได้
ถึงแม้ว่าเอเปคจะมีวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการเรียบร้อยแล้วว่า จะผลักดันให้เศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกไปในแนวทางใด ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพยังได้นำเสนอแผนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model--BCG) เข้าสู่การพิจารณา
เพื่อใช้เป็นแบบแผนและแนวทางสำหรับสมาชิกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด และเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย
แบบแผนเศรษฐกิจ BCG นี้ยังใหม่มาก อีกทั้งยังเป็นที่รับรู้และผลักดันกันในวงแคบเฉพาะภาครัฐและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยเท่านั้น น่าสนใจว่าที่ประชุมเอเปคจะรับประเด็นนี้เข้าไปพิจารณาในลักษณะใด อย่างไร หรือ อยู่ส่วนไหนของวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการ.