'ลิปโป'คว้าโอกาสธุรกิจใหญ่ สร้าง‘รร.-รพ.’ในนูซันตารา
“จอห์น รีอาดี้” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)กลุ่มบริษัทลิปโป ระบุว่า การย้ายเมืองหลวงใหม่จากกรุงจาการ์ตาไปยังนูซันตาราเปิดโอกาสทางธุรกิจอย่างมากแก่ธุรกิจของบริษัท
ในโอกาสให้สัมภาษณ์นิกเคอิ เอเชีย นอกรอบงานสัมนา“นิกเคอิ โกลบอล แมเนจเมนท์ ฟอรัม” ในกรุงโตเกียวเมื่อวันอังคาร(6พ.ย.)รีอาดี้ ขานรับการตัดสินใจของรัฐบาลจาการ์ตาที่จะย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองที่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว
“การย้ายเมืองหลวงเป็นข้อริเริ่มสำคัญมากที่จะสร้างหลักประกันว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอินโดนีเซียจะลดลงและจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่อินโดนีเซียมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ท่านประธานาธิบดีจึงมุ่งมั่นทำพันธกิจในการย้ายเมืองหลวงและเราก็มองเห็นโอกาสทางธุรกิจอย่างมากที่จะเกิดขึ้น”รีอาดี้ กล่าว
สาเหตุของการย้ายเมืองหลวงในครั้งนี้ เนื่องจากกรุงจาการ์ตาต้องเผชิญกับปัญหาความแออัด จากประชากรที่อยู่อาศัยอยู่ถึง 10 ล้านคน ปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี การจราจรติดขัด และปัญหามลพิษที่ยากจะแก้ไข โดยอินโดนีเซียยังคงให้จาการ์ตาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการเงินเช่นเดิม ส่วนนูซันตาราจะเป็นเมืองศูนย์กลางด้านการบริหารงานของรัฐบาล
“เราอยากมีส่วนร่วมกับแผนการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้ และวางแผนว่าจะเข้าไปสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ตลอดจนโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั่วทั้งเมือง”รีอาดี้ กล่าว
ลิปโปถือเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และธุรกิจของกลุ่มบริษัทมีตั้งแต่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงพยาบาลไปจนถึงค้าปลีก การเงิน โดยลิปโป คาราวาซิ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจดทะเบียนที่กรุงจาการ์ตาเป็นหน่วยงานธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทและรีอาดี้ ซีอีโอวัย 37 ปี เป็นหลานชายของมอคตาร์ รีอาดี้ ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทลิปโป
“นูซันตารา” ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 562 ตารางกิโลเมตรใน จังหวัดกาลิมันตันตะวันออก บนเกาะกาลิมันตัน โครงการนี้ยังได้รับการจัดสรรที่ดินสำหรับขยายพื้นที่ในอนาคต รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2,561 ตารางกิโลเมตร งบประมาณในการก่อสร้างนูซันตาราอาจสูงถึง 33,000 ล้านดอลลาร์
นูซันตาราจะบริหารโดยสำนักงานเมืองหลวงแห่งชาติ ประธานาธิบดีแต่งตั้งผู้บริหารมาทำหน้าที่สมัยละ 5 ปี โดยรัฐบาลอินโดนีเซียพยายามผลักดันให้เมืองนูซันตารา เป็นเมืองอัจฉริยะที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างศูนย์กลางการบริหารถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
แม้ลิปโปจะเน้นดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมแต่บริษัทก็ลงทุนอย่างต่อเนื่องในสตาร์ทอัพเทคดิจิทัลในอาเซียน เช่น “โอโว” หนึ่งในแอพพลิเคชันการชำระเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันบริษัทกำลังมองหาตลาดใหม่ๆเพื่อขยายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่ง เนื่องจากปัจจุบัน ชาวอินโดนีเซียมีฐานะและมีรายได้เพิ่มขึ้น
“สถานการณ์ตอนนี้แตกต่างจากที่ผ่านมา ที่ชาวอินโดนีเซียจะใช้บริการทางการเงินก็ต่อเมื่อต้องการกู้ยืมเงินเท่านั้น แต่ตอนนี้พวกเขาต้องการลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ เราจึงมองเห็นโอกาสว่าใน3 ปี 5 ปี จนถึง 10ปีข้างหน้า ธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่งที่เราจะทำจะมีโอกาสเติบโตสูง”รีอาดี้ กล่าว
รีอาดี้ ยังกล่าวด้วยว่ากลุ่มบริษัทเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานาน70ปีแห่งนี้ยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อพัฒนาธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันและลงทุนในบริษัทใหม่ๆเพื่อทำงานร่วมกับบรรดาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ
รีอาดี้ อ้างถึงธุรกิจใหม่ๆที่บริษัทให้ความสนใจเข้าลงทุนคือธุรกิจพัฒนายานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากไฟฟ้าและพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจนี้ทั้งในอินโดนีเซียและกับบรรดาผู้ประกอบการต่างชาติรายอื่นๆที่สนใจเข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท
“เราหวังว่าสิ่งที่จะทำในช่วง10ปีนับจากนี้ไป คือการทำธุรกิจร่วมกับหุ้นส่วนที่สนใจลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆในอินโดนีเซีย”รีอาดี้ กล่าวทิ้งท้าย