ออมสินจับมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ปั้นชุมชนยั่งยืน
ออมสิน จับมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เปิดโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมตั้งเป้า 5 หมู่บ้านยอดดอยเปียงซ้อ จ.น่าน เป็นต้นแบบการพัฒนาแบบองค์รวม ตอบโจทย์ความยั่งยืน
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน วิทัย รัตนากร ระบุ ธนาคารเปิดตัวโครงการเพื่อสังคมโปรเจกต์ใหม่ โดยร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม คัดเลือก 5 หมู่บ้านของพื้นที่ห่างไกลในตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนา 9 ด้าน ครอบคลุมมิติคุณภาพชีวิต และมิติเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการแนวคิดเชิงสังคมลงในกระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคมให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ธนาคารเพื่อสังคม
โดยตั้งเป้าหมายการพัฒนาและช่วยเหลือชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลา 1 ปี และคาดว่าจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ในโครงการต้นแบบฯ ครั้งนี้ ทั้งประชากรของ 5 หมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย
โครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมพื้นที่ 5 หมู่บ้านของจังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ จำนวนประชากร 500 ครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลประโยชน์ในโครงการ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เข้าไปบุกเบิกชักชวนชาวบ้านของ 5 หมู่บ้าน ให้เปลี่ยนจากการทำเกษตรเลื่อนลอยที่ทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มาปลูกกาแฟคุณภาพมาตรฐานญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายผิวดินและป่าต้นน้ำน่าน ต่อมาธนาคารออมสินได้ริเริ่มจัดทำโครงการต้นแบบตามแนวคิดการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมขึ้น สนับสนุนงบประมาณ 6,900,000 บาท โดยร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คัดเลือกให้ 5 หมู่บ้านดังกล่าว เป็นพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาในขั้นต่อไป ด้วยการจัดตั้งโรงแปรรูปกาแฟ เครื่องมืออุปกรณ์ และปัจจัยที่จำเป็นในการแปรรูปเมล็ดกาแฟให้พร้อมจำหน่ายเพิ่มรายได้ต่อกิโลกรัมให้กับเกษตรกร
ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สมิทธิ หาเรือนพืชน์ ระบุ กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจโดยหลังจากมูลนิธิดำเนินการโครงการปลูกคน ปลูกป่าที่ จ.น่าน จึงมองว่ากาแฟเป็นพืชทางเลือกที่ดีเพราะกาแฟต้องอยู่กับป่า ต้องอาศัยร่มไม้ในการเจริญเติบโต ซึ่งโมเดลที่ทำคือการนำความรู้จากแบรนด์ดอยคุงที่ทำสำเร็จแล้วและได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น นำสายพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมกับพื้นที่มาปลูกตามมาตรฐานเพื่อยกระดับกาแฟไทย
ปัจจุบันดำเนินโครงการมาแล้ว 3 ปี จำนวน 200 ไร่ โดยรูปแบบการสนับสนุนในช่วงของการวิจัยและพัฒนามูลนิธิฯ จะเป็นผู้รับความเสี่ยงโดยการออกเงินทุนทั้งหมดให้เกษตรกร ซึ่งผลผลิตที่ได้จะการันตีขั้นต่ำไว้เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้แน่นอน ซึ่งเมื่อครบ 7 ปีที่ทำร่วมกัน มูลนิธิฯจะส่งมอบให้กับชุมชนต่อไป
นอกจากนี้ ธนาคารยังจัดสรรงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งสำหรับมิติการพัฒนาด้านอื่นที่รับผิดชอบดำเนินการโดยบุคลากรของธนาคารทั้งจากส่วนกลาง และธนาคารออมสินภาค 9 (จังหวัดน่าน) อาทิ ด้านการจัดหาแหล่งเงินและแก้ปัญหาหนี้ การสร้างอาชีพสร้างรายได้อื่นนอกเหนือจากการเกษตร เช่น การส่งเสริมอาชีพผู้ประกอบการโฮมสเตย์รวม 18 ราย ที่ผ่านการอบรมยกระดับโฮมสเตย์มาตรฐานจากกรมการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. และ Airbnb การฝึกอบรมสอนอาชีพช่าง การสนับสนุนด้านการศึกษา ปรับปรุงอาคารโรงอาหาร ห้องน้ำ สนามเด็กเล่น และการส่งเสริมการเรียนการสอนด้าน ICT การสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์แก่โรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลและกิจกรรมของ อสม. การปรับปรุงระบบจัดการน้ำดื่มน้ำใช้ การติดตั้งระบบไฟ Solar System ระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน