จีนเปิดแผน 16 ข้อพลิกฟื้นวิกฤติอสังหาฯ
จีนเปิดแผน 16 ข้อพลิกฟื้นวิกฤติอสังหาฯ โดยผู้ว่าพีบีโอซีคาดหวังว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะก้าวผ่านมรสุมไปได้อย่างราบรื่น หลังข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า สถานการณ์เริ่มกระเตื้องขึ้น
จีนออกคู่มือที่เสนอแนะแนวทางทั้งหมด 16 ข้อ เพื่อใช้ในการกอบกู้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริงให้กับเจ้าหน้าที่การเงินทั่วประเทศ โดย“อี้ กัง” ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) แสดงความคาดหวังว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศจะสามารถก้าวผ่านมรสุมไปได้อย่างราบรื่น หลังข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์เริ่มกระเตื้องขึ้น ซึ่งใจความสำคัญของมาตรการทางนโยบายมีดังนี้
1. การให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับนักพัฒนา โดยสถาบันการเงินควรปฏิบัติต่อนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐและเอกชนอย่างเท่าเทียมกัน ผู้ปล่อยสินเชื่อควรสนับสนุนนักพัฒนาที่มุ่งความสนใจไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริงและมีระบบการจัดการองค์กรที่ดี เป็นพิเศษ
2. หลักเกณฑ์ในการซื้อบ้านสำหรับบุคคลทั่วไป โดยสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นในการกำหนดเกณฑ์การชำระเงินดาวน์และอัตราดอกเบี้ยการจำนองพื้นฐานแบบเฉพาะเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานและพัฒนาอุปสงค์ที่อยู่อาศัย ปรับหลักเกณฑ์การจัดซื้อบ้านหลังแรกของผู้อยู่อาศัยในเมืองใหม่ให้เหมาะสม
3. สนับสนุนบริษัทก่อสร้าง โดยรับประกันเรื่องการระดมทุนที่มีความต่อเนื่องและมีเสถียรภาพของบริษัทก่อสร้าง
4. ขยายเวลาการกู้ยืมให้กับนักพัฒนา โดยหนี้ค้างชำระและสินเชื่อเชื่อถือได้ที่มีกำหนดครบกำหนดชำระภายใน 6 เดือนถัดไปของนักพัฒนาสามารถต่อเวลาไปได้อีก 1 ปี
5. สนับสนุนการออกหุ้นกู้ของนักพัฒนาที่มีคุณภาพ โดยนักพัฒนาสามารถขยายเวลาการชำระหุ้นกู้หรือสวอปผ่านการเจรจา
6. ส่งเสริมให้บริษัทที่น่าเชื่อถือสนับสนุนเงินทุนแก่นักพัฒนา เพื่อนำไปใช้เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า และบ้านพักคนชรา
7. สินเชื่อพิเศษเพื่อดำเนินโครงการให้เสร็จสมบูรณ์ โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาจีนและธนาคารแห่งชาติเพื่อการพัฒนากสิกรรมและชนบทควรเสนอสินเชื่อพิเศษ “อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระเบียบ” เพื่อรับรองว่าโครงการอสังหาริมทรัพย์จะดำเนินงานแล้วเสร็จและสามารถส่งมอบให้กับลูกค้า
8. การสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อรับประกันว่าโครงการที่อยู่อาศัยจะเสร็จสมบูรณ์ โดยผู้ปล่อยเงินกู้โครงการที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่เผชิญปัญหาก่อสร้างล่าช้า ควรสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติม
9. การซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์ควรสนับสนุนให้นักพัฒนาที่มีความแข็งแกร่งเข้าซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ของคู่แข่งที่อ่อนแอกว่า
10. การดำเนินการโดยอิงตามตลาด ซึ่งรวมถึง การล้มละลายและการปรับโครงสร้าง โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้รับการส่งเสริมให้จัดการกับโครงการที่อยู่อาศัย ในฐานะผู้บริหารด้านการล้มละลายและนักลงทุนในด้านการปรับโครงสร้าง
11. การจำนองของผู้ซื้อบ้าน โดยส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์เจรจากับผู้ซื้อบ้าน เพื่อขยายเวลาการชำระหนี้การจำนอง หากสัญญาซื้ออสังหาริมทรัพย์ของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป หรือถูกยกเลิก หรือหากพวกเขาตกงานจากผลพวงของโควิด-19
12. การชำระหนี้จำนอง โดยคะแนนสินเชื่อของผู้ซื้อจะได้รับการปกป้อง คะแนนสินเชื่อกลายเป็นประเด็นหลักของการคว่ำบาตรการจำนองอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่เดือนก.ค. เนื่องจากการขาดความน่าเชื่อถือจะทำให้ประชาชนซื้ออสังหาริมทรัพย์ยากขึ้นในอนาคต
13. ผ่อนปรนข้อจำกัดสำคัญต่อการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ โดยสามารถผ่อนคลายข้อจำกัดกรณีธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับนักพัฒนาได้ชั่วคราว ทั้งนี้ จีนได้เริ่มกำหนดเพดานการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 ซึ่งจำกัดการปล่อยสินเชื่อต่อนักพัฒนาและการปล่อยสินเชื่อการจำนอง
14. การระดมทุนเพื่อการซื้อโครงการ โดยจะมีการปรับหลักเกณฑ์ระดมเงินทุนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้เหมาะสมเป็นการชั่วคราว โดยธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติควรใช้นโยบายที่เป็นประโยชน์ใหม่นี้ต่อการระดมทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริง
15. การปล่อยสินเชื่อต่ออสังหาริมทรัพย์ให้เช่า โดยสถาบันการเงินควรยกระดับการสนับสนุนบริษัทที่เป็นเจ้าของธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์และอำนวยความสะดวกด้านการระดมทุนระยะยาวให้กับบริษัทเหล่านี้อย่างแข็งขัน
16. สร้างความหลากหลายด้านการระดมทุนสำหรับอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า โดยธนาคารพาณิชย์สามารถออกหุ้นกู้ที่นำไปใช้ด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า และควรพิจารณาสนับสนุนทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT ต่อไป