'บีทีเอส' พร้อมเปิดบริการรถไฟฟ้าโมโนเรล หนุนลดคาร์บอน 1.4 แสนตันต่อปี
“บีทีเอส” ศึกษาพลังงานทดแทนต่อเนื่อง ปีหน้าพร้อมเปิดให้บริการโมโนเรล 2 สาย ลดคาร์บอนเพิ่ม 1.4 แสนตัน พร้อมประเดิมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ประหยัดพลังงาน 14,000 เมกะวัตต์ต่อปี หวังรัฐเคาะนโยบายตั๋วร่วม เปลี่ยนผ่านภาคขนส่งไร้รอยต่อ
นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายในงานสัมมนา Thailand Smart City : Bangkok Model Session 6 : Smart Commuter, Smart Transportation ระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ เพื่อรองรับการเติบโตของมหานคร จัดโดย “เนชั่น กรุ๊ป” โดยระบุว่า ปัจจุบันบีทีเอสให้บริการเดินรถไฟฟ้ารวมระยะทาง 72 กิโลเมตร ประกอบด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสายสีทอง
อีกทั้งในปีหน้าจะเปิดเดินรถโมโนเรล 2 สายเพิ่มเติม ประกอบด้วย สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ส่งผลให้ในปี 2566 บีทีเอสจะเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้ารวม 140 กิโลเมตร ครอบคลุมการให้บริการ 1 ใน 3 ของจำนวนประชาชนที่เดินทางในกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ การขยายโครงข่ายรถไฟฟ้ายังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนนโยบายลดคาร์บอน ที่บีทีเอสดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า 1 กิโลเมตร มีอัตราเผาผลาญพลังงาน 10 กรัมต่อกิโลเมตร แต่หากใช้รถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมัน จะปล่อยคาร์บอนมากถึง 150 กรัมต่อกิโลเมตร ดังนั้นหากประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าจะลดคาร์บอนได้เพิ่มขึ้นถึง 93%
อย่างไรก็ดี เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และขยายสู่ก๊าซเรือนกระจกประเภทอื่นๆ (Net Zero) ในปี 2065 บีทีเอสได้สนับสนุนนโยบายลดคาร์บอนมาตลอด โดยปัจจุบันบีทีเอสได้รับรางวัลบริษัทที่ดำเนินการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral นับเป็นบริษัทระบบขนส่งทางรางแห่งแรกของโลกที่เป็นกลางทางคาร์บอน
ทั้งนี้ บีทีเอสยังมีแผนผลักดันลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยในปี 2566 ที่จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรลเพิ่มอีก 2 สายนั้น จะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ เป็นนโยบายในการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับการให้บริการผู้โดยสาร ควบคู่ไปกับการลดใช้พลังงาน
นายสุรยุทธ ยังกล่าวด้วยว่า จากการศึกษาพบว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น 14,000 เมกะวัตต์ต่อปี อีกทั้งการเปิดให้บริการโมโนเรล ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ในภาคขนส่งทางรางของไทย จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มอีก 1.4 แสนตันต่อปี
นอกจากนี้ บีทีเอสยังดูแลผู้โดยสารทั้งการทำความสะอาด และการดูแลทรัพย์สินสูญหาย การให้บริการผู้ด้อยโอกาสหรือผู้พิการ ให้บริการฟรีมาโดยตลอด รวมทั้งยังมีห้องพยาบาลฉุกเฉินดูแลผู้โดยสาร การพัฒนาด้านเทคโนโลยี นำเอาเทคโนโลยีการใช้จ่ายบนโลกออนไลน์มาใช้กับทุกบริการ ผ่าน Rabbit โดยพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองทุกความต้องการ และยังมีเป้าหมายขยายธุรกิจภาคขนส่งทั้งการให้บริการรถ BRT และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่จะทำให้เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้
ส่วนประเด็นของการพัฒนาระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อ ด้วยระบบตั๋วร่วม หรือ Common ticket System บีทีเอสยืนยันว่าทุกวันนี้มีระบบที่พร้อมจะเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการภาคขนส่งอื่นๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ภาครัฐต้องกำหนดมาตรฐานของประเทศในการอ่านบัตรให้ได้ทุกระบบ แต่ก็ผ่านมาหลายมาตรฐานแล้วยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งล่าสุดก็ทราบว่าทางภาครัฐมีนโยบายจะใช้ระบบ EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) ซึ่งบีทีเอสก็พร้อมเร่งติดตั้งหัวอ่านบัตรดังกล่าว และน่าจะได้ใช้กับโมโนเรลในปีหน้า
“ส่วนตัวมองว่าถ้าขนส่งสาธารณะสะอาด สะดวก ปลอดภัย โจทย์นี้เป็นสิ่งที่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ จะเป็นการยกระดับคุณภาพต่างๆ และหากภาคขนส่งเป็นขนส่งอีวีด้วย จะยิ่งทำให้เงียบ และลดคาร์บอน สิ่งเหล่านี้ทำได้แน่นอน และประชาชนจะมีทางเลือกต่อระบบขนส่งสาธารณะ แต่ทุกอย่างก็อยู่ที่ความนิ่งในเรื่องของนโยบาย ถ้านโยบายนิ่งภาคเอกชนไทยก็พร้อมสนับสนุน ทุกวันนี้เราพร้อมเสมอ”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์