ไทยชงเวทีรัฐมนตรีเอเปคเสนอแผนงาน 4 ปี สร้างเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก

ไทยชงเวทีรัฐมนตรีเอเปคเสนอแผนงาน 4 ปี สร้างเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก

ไทยดัน FTAAP สร้างเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก หวังที่ประชุมออกแถลงการณ์ร่วมได้ เสนอแผนงาน 4 ปี ตอบสนองการค้าการลงทุนโลกยุคดิจิทัล “สภาธุรกิจเอเปค” หนุนเต็มสูบ หวังตลาด 2.9 พันล้านคน ด้านผู้นำเวียดนามถึงไทยคนแรก “ประยุทธ์” เปิดทำเนียบหารือทวิภาคี “มาครง-ฟูมิโอะ” วันนี้

เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ถือเป็นไฮไลท์สำคัญหนึ่งในการประชุมรัฐมนตรีเอเปคและการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในวันที่ 17-19 พ.ย.นี้ 

การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ในวันนี้ (17 พ.ย.) ซึ่งมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผลสรุปของการประชุมจะออกเป็นร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค แต่การประชุมไม่ได้ข้อยุติจะออกเป็นถ้อยแถลงประธานการประชุมรัฐมนตรีเอเปค

ทั้งนี้ ในร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปคที่เจ้าหน้าที่อาวุโสสรุปครอบคลุม 47 หัวข้อ แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การเปิดกว้างต่อทุกโอกาส 2.การเชื่อมโยงในทุกมิติ 3.ความสมดุลในทุกด้านในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ FTAAP มีเนื้อหาระบุว่า เอเปคจะเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ขับเคลื่อนโดยตลาด และระลึกถึงการหารือในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (เอ็มอาร์ที) ปี 2565 และยินดีกับการทบทวนการหารือ FTAAP ในบริบทยุคหลังโควิด-19  เพื่อการนั้นยินดีและรับรองการจัดทำแผนงานขับเคลื่อน FTAAP ที่ต่อเนื่องหลายปี

รวมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานงานระหว่างคณะทำงานและการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางเศรษฐกิจอื่นๆ และสั่งการให้เจ้าหน้าที่รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคในปีต่อไป

ปัจจุบันเอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากร 2,800 ล้านคน มี GDP คิดเป็นสัดส่วน 59% ของโลก ในขณะที่สัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปค แบ่งเป็นการค้าในเอเปค 69.8% และการค้านอกเอเปค 30.2%

 

 

นอกจากนี้ไทยจะเสนอแผนงานขับเคลื่อน FTAAP ได้รวบรวมประเด็นที่สมาชิกเอเปคสนใจร่วมกัน ทั้งการค้าดั้งเดิม การค้าใหม่และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าหมายของ FTAAP เพื่อขยายการค้าการลงทุนภายในเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งลดอุปสรรคการค้าการลงทุนที่ไม่จำเป็น และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสมาชิกเอเปค และลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังทำแผนงาน FTAAP ระยะ 4 ปี (2566-2569) ที่มุ่งสู่การจัดทำ FTAAP เพื่อตอบสนองสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ชูวาระทบทวนเจรจาเอฟทีเอ

สำหรับการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในวันที่ 14-16 พ.ย.2565 ได้พยายามหารือเพื่อขับเคลื่อน FTAAP ซึ่งหวังให้เป็นเขตเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นกลไกสำคัญที่จะขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ และหนุนการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในหมู่สมาชิกทำให้การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสจะต้องหารือรายละเอียด เพื่อนำไปสู่การเจรจาการลดภาษีระหว่างกลุ่มเอเปคเป็นรายสินค้าได้มากขึ้น จึงหวังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตหลายมิติ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค กล่าวว่า มีการริเริ่มผลักดัน FTAAP มาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ยังไม่คืบหน้า ซึ่งไทยในฐานะประธานได้ชูประเด็นนี้ เพื่อทบทวนอีกครั้ง พร้อมวางแผนการทำงานในอนาคตไว้รองรับ เพื่อให้แต่ละเขตเศรษฐกิจต้องดำเนินการให้เกิดเขตการค้าเสรีได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะต้องนำไปสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วยเช่นกัน 

“FTAAP ไม่ใช่ความตกลงการค้า ที่จะต้องเปิดการเจรจาและลงนามเหมือน อาร์เซ็ป หรือ CPTPP แต่จะเป็นลักษณะการทยอยเปิดการค้าเสรี ที่จะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละเขตเศรษฐกิจ

วางแผนงานเจรจา4ปี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เบื้องต้นแผนงานขับเคลื่อน FTAAP มีระยะเวลา 4 ปีคือ ระหว่างปี 2566-2569 มีเป้าหมายตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม สำหรับแผนงานดังกล่าวจะเปิดให้รวบรวมประเด็นที่สมาชิกเอเปคมีความสนใจร่วมกัน ทั้งด้านการค้าดั้งเดิม การค้าใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการเกิดวิกฤติ ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสมาชิกเอเปค เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการจัดทำ FTAAP และมุ่งสู่เป้าหมายผลลัพธ์สำคัญของ FTAAP อาทิ การขยายการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การลดอุปสรรคการค้าการลงทุนที่ไม่จำเป็น การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสมาชิกเอเปค และการลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

สภาธุรกิจหนุนเปิดเอฟทีเอ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างแต้มต่อให้กับประเทศต่างๆ ในการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจวิกฤตถดถอย ปัญหาพลังงาน ซึ่งการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หนึ่งในข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจต่อที่ประชุมผู้นำเอเปค คือ การ ผลักดันให้มีการจัดตั้ง FTAAP 

จะเป็นเขตการค้าเสรีที่มีศักยภาพสูงสุด เนื่องจากมีประชากรราวกว่า 2,900 ล้าน มีสัดส่วนจีดีพี มากถึง 60% ของทั่วโลก โดยถือว่าเป็นช่วงจังหวะดีที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะสถานการณ์มีความเหมาะสม เนื่องจากขณะนี้กำลังเกิดวิกฤตเงินเฟ้อวิกฤติพลังงาน และวิกฤติอาหาร เพิ่มเติมเข้ามา หากยังไม่มีความร่วมมือกัน ก็คงแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ยาก ซึ่งหวังว่าผู้นำเอปคจะรับข้อเสนอและริเริ่มพิจารณา FTAAPให้ได้เร็วที่สุด”

ทั้งนี้ เอเปค ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐและเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มี GDP รวมกัน มูลค่า 52 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2 ใน 3 ของ GDP โลก 

นอกจากนี้ การจัดทำ FTAAP จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปคและไทย เนื่องจากไทยยังไม่มี FTA กับสมาชิกเอเปค อาทิ สหรัฐ แคนาดา รัสเซียและเม็กซิโก

เพิ่มการค้าลงทุน“เวียดนาม”

สำหรับผู้นำเอเปคคนแรกที่เดินทางถึงไทย คือ นายเหงียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนามที่ไดินทางมาพร้อมภริยา เมื่อเวลา 11.30 น.วานนี้ (16 พ.ย.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยมีการหารือข้อราชการแบบเต็มคณะที่ทำเนียบรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเยือนของประธานาธิบดีเวียดนามในครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษในหลายด้านทั้งการมาเยือนไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และถือการมาเยือนไทยของประมุขเวียดนามในรอบ 24 ปี

ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้นไทยและเวียดนามเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคทั้งในขนาดเศรษฐกิจและศักยภาพการเติบโตที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการค้า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีมูลค่า 2.4 หมื่นล้าน

รวมทั้งได้มีความตกลงร่วมกันในเอกสารร่วมกัน 5 ฉบับ ได้แก่ 1.แผนยุทธศาสตร์ในการเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างไทยและเวียดนามในระยะห้าปีข้างหน้า 2.ความร่วมมือที่จะช่วยเหลือร่วมกันในเรื่องของคดีแพ่ง 3.เอกสารว่าด้วยการสถาปนาความร่วมมือเมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดขอนแก่นกับนครดานัง 

4.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม 5.สัญญาการสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้ากับธนาคารพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศระหว่างผู้ประกอบการไทยและเวียดนาม

เปิดทำเนียบหารือ3ผู้นำวันนี้

สำหรับการหารือทวิภาคีในวันนี้ (6 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จะหารือกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส รวมทั้งนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน ที่ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งหารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น , นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาจะหารือทวิภาคีในวันที่17 พ.ย.2565 ซึ่งเป็นการหารือพร้อมลงนามเอกสาร 2 ฉบับ คือร่างถ้อยแถลงยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ในระยะ 5 ปี ซึ่งครอบคลุมการส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย