‘ไทย - เวียดนาม’ ดันการค้าทะลุ 8 แสนล้านบาท

‘ไทย - เวียดนาม’ ดันการค้าทะลุ 8 แสนล้านบาท

นายกฯ หารือทวิภาคีไทย - เวียดนาม ประธานาธิบดีเวียดนาม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ส่งเสริมความร่วมมือรอบด้าน ดันการค้าทะลุ 8 แสนล้านบาท ดันเศรษฐกิจดิจิทัล และความร่วมมือสันติภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม ได้หารือแบบ "ทวิภาคีไทย - เวียดนาม" ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ที่ทำเนียบรัฐบาล
 โดยภายหลังการหารือทวิภาคีไทย-เวียดนาม นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้แถลงข่าวร่วมกัน สรุปได้ 4 ด้าน ดังนี้
 

1.การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ
ผู้นำทั้งสองฝ่ายพึงพอใจกับความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม ด้านความมั่นคงและกลาโหม โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 ประเทศเร่งกระชับความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในประเด็นความมั่นคง และกลาโหมที่ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ และข้อกังวลร่วมกัน 

ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีต่อแผนการจัดการประชุม และการปรึกษาหารือระดับสูง เพื่อกระชับความร่วมมือทางการเมือง และความมั่นคงในทุกระดับ

2.เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการฟื้นฟู และการเติบโตที่ยั่งยืน และยืดหยุ่น

ผู้นำทั้งสองฝ่ายยินดีต่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการค้าทวิภาคีไทย-เวียดนาม แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในอาเซียน ขณะที่เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทยในอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 875,000 ล้านบาท ภายในปี 2568

ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มอบหมายให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้กระบวนการการนำเข้าและส่งออกง่ายขึ้น อำนวยความสะดวกการค้า ข้ามแดน และการนำผ่านสินค้าไปยังประเทศที่สาม แก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุน และศึกษาโอกาสความร่วมมือใหม่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ซึ่งรวมถึงการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code)

ผู้นำทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอำนวยความสะดวก และคุ้มครองการลงทุนในทั้งสองประเทศ โดยนายกฯ ยินดีต่อความสนใจของนักลงทุนเวียดนามที่จะลงทุนในประเทศไทย เพิ่มขึ้น และหวังว่าจะเห็นการลงทุนจากเวียดนามในไทยเพิ่มขึ้น


3. ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน
ผู้นำทั้งสองฝ่ายรับทราบด้วยความพึงพอใจต่อความก้าวหน้าของความร่วมมือทางวิชาการ และการพัฒนา และได้เห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในประเด็นการบริหารจัดการน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 

ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างชื่นชมความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม ด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยน ระหว่างประชาชน โดยจะใช้ประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างจังหวัดของทั้ง 2 ประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนในวงกว้าง และลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของประเทศ

4.เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศผู้นำทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญที่ไทยและเวียดนามจะประสานท่าทีกันอย่างใกล้ชิดในประเด็นที่มีความห่วงกังวล และประโยชน์ร่วมกันในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค และพหุภาคีที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิก

ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องว่า ไทย-เวียดนาม จะทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพ ความเป็นแกนกลาง และการดำเนินการของอาเซียนในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ แสดงการสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในประเด็นเมียนมาอย่างเต็มที่ 

ผู้นำทั้งสองยังพร้อมร่วมทำงาน ร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภูมิภาค (RCEP) 

ผู้นำทั้งสองฝ่ายยืนยันความสำคัญของการรักษา และส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือใน และการบินผ่านเหนือทะเลจีนใต้ และตระหนักถึงประโยชน์ของทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ สนับสนุนการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยปราศจากการคุกคามหรือการใช้กำลัง

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์