วีระพล แจง 3 สาเหตุค่าไฟแพง มองแนวโน้มค่าไฟปีหน้ายังปรับขึ้น 

วีระพล แจง 3 สาเหตุค่าไฟแพง มองแนวโน้มค่าไฟปีหน้ายังปรับขึ้น 

อดีต กรรมการ กกพ.ชี้ชัด 3 ปัจจัยค่าไฟแพง ก๊าซอ่าวไทยขาด – นำเข้า LNG ราคาแพงเพิ่ม – บาทอ่อน ห่วงปริมาณนำเข้าก๊าซ LNG สูงเกือบ 20% จากปกตินำเข้า 6 – 8% ชี้ค่าไฟปีหน้ายังมีแนวโน้มปรับขึ้นจากราคาอ้างอิงที่สูง และความไม่แน่นอนของราคาพลังงาน 

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวในรายการ SMART ENERGY ออกอากาศทาง ททบ. 5 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ค่าไฟฟ้าที่มีการปรับขึ้นมาตลอดในปี 2565 มาจากปัจจัยต่างๆอย่างน้อย 3 ปัจจัยหลักที่มีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ

ปัจจัยแรก

มาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และก๊าซจากเมียนมาที่นำเข้ามาผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยมีปริมาณลดลงทำให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศเข้ามาผลิตไฟฟ้าทดแทน จากเดิมที่เคยมีการนำก๊าซ LNG เข้ามาผลิตไฟฟ้าเพียง  6 – 8% แต่ปัจจุบันมีการนำเข้าเพิ่มมาเกือบ 20% “การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานจาก บริษัทเดิม มาเป็นบริษัท ปตท สผ. ทำให้กำลังการผลิตลดลง ในขณะเดียวกัน ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาก็น้อยกว่าแผนที่คาดไว้  ทำให้ต้องนำเข้า LNG มาผลิตไฟฟ้าในปริมาณที่มากขึ้น” นายวีระพลกล่าว 

      ทั้งนี้แม้ในปัจจุบัน  รัฐบาลให้โรงไฟฟ้าหลายโรง ใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ผลิตไฟฟ้า แทนแก๊สธรรมชิตและ LNG เพราะถูกกว่า  ทำให้ควบคุมต้นทุนค่าไฟฟ้าไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าทุกโรงจะใช้น้ำมันดีเซล หรือน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงได้  จึงทำให้ปริมาณการนำเข้า LNG ยังมีปริมาณที่สูงมากอยู่

 

ปัจจัยที่สอง

เกี่ยวข้องกับปัจจัยแรกแต่เกี่ยวเนื่องกับวิกฤติสงครามยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานและก๊าซเพิ่มมากขึ้น โดยการนำเข้าก๊าซ LNG ที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยเป็นจังหวะที่ LNG  มีราคาพุ่งขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย พอมาเจอสงครามยูเครน รัสเซีย ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทำให้ราคา LNG ซึ่งปีที่แล้วอยู่ประมาณ 10เหรียญต่อล้านบีทียู ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 30-40 และ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ถือว่าสูงขึ้นมาก

ปัจจัยที่สาม

ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทที่ตอนกลางปีอยู่ที่ 33 บาทต่อ1 ดอลลาร์ อ่อนค่าไปอยู่ที่ประมาณ 38 บาทต่อดอลลาร์โดยค่าบาทที่อ่อนลงทุกๆ 1 บาท ทำให้ค่าไฟสูงขึ้นประมาณ 5-6 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับ สถานการณ์ค่าไฟฟ้าปี 2566 นายวีรพลมองว่า ยังเป็นขาขึ้น  เพราะราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะอิงกับราคาน้ำมันเตาย้อนหลังประมาณ 1 ปี  เพราะฉะนั้น ราคาก๊าซต้นปีหน้า จะสูงกว่าต้นปีนี้ เพราะราคาน้ำมันต้นปีนี้สูงกว่าช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ราคาซื้อขายก๊าซ  LNG ราคาล่วงหน้าในปีหน้า อยู่ที่ประมาณ 30 – 35 ดอลลาร์สต่อล้านบีทียู ซึ่งยังไม่ได้สูงขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากที่อาจทำให้ราคาก๊าซLNG เพิ่มขึ้นได้อีก  จึงประเมินว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าปี 2566 ยังเป็นขาขึ้นอยู่