ฟิลิปปินส์ ดึง APEC 2022 ร่วมแก้ 3 วิกฤติกระทบปากท้อง สู่การสร้างสันติภูมิภาค
ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ชี้ 3 ประเด็นท้าทายหลักที่โลกกำลังเผชิญ ประกอบด้วย ความมั่นคงอาหาร โรคระบาด สภาพอากาศรวน เร่งดันความร่วมมือเอเปคร่วมกับภาคธุรกิจดึงจุดแข็งการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของภูมิภาคขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจโลกสู่ความสงบสุข
นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ กล่าวบนเวที APEC CEO Summit 2022 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจโลกและอนาคตของเอเปค” เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ว่า การพบหน้ากันวันนี้ในรอบ 2 ปี ถือเป็นหนึ่งความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่จะร่วมกันฟื้นฟูและปรับปรุงซัพพลายเชนการค้าโลกหลังสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ด้วยความแข็งแกร่งของภูมิภาคที่มีความยืดหยุ่น และการเปิดเสรีเชื่อมโยงการค้าระหว่างแดนและการลงทุน
หลายทศวรรษที่ผ่านมาเอเปคถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่ว่าต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากนี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูง การหยุดชะงักของซัพพลายเชนโลก และแรงกดดันของความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้นในหลายแห่ง ทำให้ช่วงเวลานี้เป็นช่วงสำคัญที่เอเปคจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดร่วมกับพันธมิตรภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมต่อจากนี้
โดยเรื่องที่มองว่าเป็นประเด็นเร่งด่วนและเป็นความท้าทายของโลกซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและต้องการแผนรับมือที่ดี เพื่อร่วมกันเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมกับลดความเหลื่อมล้ำ มี 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
1. ความมั่นคงทางอาหาร กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน ซึ่งเป็นผลพวงจากการแปรปรวนการสภาพภูมิอากาศที่คาดเดาไม่ได้ ภาวะเงินเฟ้อและสงครามระหว่างผู้ผลิตอาหารและปุ๋ยระดับโลก ทำให้ซัพพลายเชนการผลิตอาหารโลกได้รับผลกระทบตามไปด้วย
การสร้างความมั่นคงทางอาหารควกเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกรัฐบาลจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยมีการใช้นโยบายที่ยืดหยุ่นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และมีความหลากหลาย รวมทั้งการพัฒนาซัพพลายเชนอาหารใรประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
2. การสร้างความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุข แม้หลายประเทศจะลดระดับมาตรการการป้องกันโควิด-19 แต่การระบาดใหญ่ครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ภาครัฐจะต้องทุ่มงบประมาณให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธาณสุขอย่างต่อเนื่องในการรับมือโรคระบาดอื่นๆ โดยเตรียมความพร้อมในทุกมิติ เพราะเศรษฐกิจไม่สามารถทนรับการปิดเมืองได้อีก ที่จะนำมาซึ่งการชะลอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการเติบโตของตลาดในภาพรวมเนื่องจากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น
3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในระยะยาว ซึ่งฟิลิปินส์เป็นประเทศหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น โดยรายงานจากเอดีบีระบุว่าจะเป็นความสูญเสียราว 6% ของจีดีพีต่อปี ซึ่งการร่วมมือระหว่างประเทศหลายปีที่ผ่านมาต่างมองภาพการแก้ปัญหานี้ต้องร่วมมือกัน แต่ปัจจุบันการผลักดันเพื่อไปสู่การปฏิบัติจริงกลับยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก
ทั้งนี้ แนวทางที่ฟิลิปินส์เร่งผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด พัฒนานวัตกรรมซัพพลายเชนใหม่ การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมไปถึงโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ไบโอ-เซอคูลาร์-กรีน ตามโจทย์หลักของไทยที่เป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 Thailand
"อนาคตของเอเปคขึ้นอยู่กับการร่วมกันฟื้นฟูให้ภูมิภาคกลับมาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ด้วยความแข็งแกร่งในการเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุข บรรลุวิสัยทัศน์ในเอเปคปูตราจายา 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040)"