“เอเปค” ชู BCG เกราะป้องกันเศรษฐกิจ ห่วง “เงินเฟ้อ - พลังงาน - ความมั่นคงอาหาร”
“ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะเวทีผู้นำเอเปควันนี้ หารือขับเคลื่อน Bangkok Goals on BCG หนุนแผนเจรจา FTAAP เวทีรัฐมนตรีเอเปค ห่วงปมพลังงาน เงินเฟ้อ ความมั่นคงอาหาร เร่ง BCG รับความท้าทายเศรษฐกิจ นายกฯ โชว์วิสัยทัศน์บนเวที “ซีอีโอ ซัมมิต” ชู 3 ประเด็นฟื้นเศรษฐกิจ
การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) เข้าสู่การประชุมระดับผู้นำแล้วในวันนี้ (18 พ.ย.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และจะพิจารณาวาระที่มีการสรุปจากเวทีรัฐมนตรีการค้า และการต่างประเทศเอเปค (APEC Ministerial Meeting 2022: AMM) วานนี้ (17 พ.ย.) ในหลายประเด็น ซึ่งมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีเอเปคมีข้อสรุปสำคัญ 3 ประเด็น ที่จะเสนอเวทีผู้นำเอเปค ประกอบด้วย
1.ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค มีฉันทามติร่วมกันในการขับเคลื่อน Bangkok Goals on BCG Model ที่เรียกว่าเป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่อง BCG
2.ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันในการขับเคลื่อนความร่วมมือเอเปคไปสู่เป้าหมายของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTA-AP) ขึ้นในอนาคต
3.ในวาระการพิจารณาหัวข้อหลัก 3 ประเด็น คือ Open. Connect. Balance. ได้แยกประชุมรายละเอียดแต่ละหัวข้อ โดยหัวข้อ Open. มีข้อสรุปครอบคลุม ดังนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคเห็นพ้องกันเปิดกว้างทางด้านการค้า การลงทุน เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชนสามารถทำงานได้
รวมทั้งเห็นพ้องกันที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจเอเปคไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีต่อในอนาคต และที่ประชุมสนับสนุนการค้าระบบพหุภาคี โดยให้มีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นศูนย์กลาง และเร่งหาข้อสรุปในประเด็นที่ค้างคาใน WTO ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนประมง และอื่นๆ รวมทั้งให้เสริมประเด็นใหม่ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ WTO ให้เกิดขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ เอเปคเห็นชอบร่วมกันในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านบริการของกลุ่มสมาชิกเอเปค เรื่องท่องเที่ยวขนส่ง หรือโลจิสติกส์ ก็ตาม รวมทั้งเห็นพ้องกันผลักดัน และเปิดโอกาสให้สตรี ไมโครเอสเอ็มอี กลุ่มเปราะบาง เข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งในการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล และเห็นพ้องในการสนับสนุนแนวคิดการค้าสู่ความยั่งยืน ทั้งทางด้านสินค้า และบริการ สนับสนุนทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค ได้หารือถึงกรอบการทำงานเพื่ออนาคตที่จะส่งต่อให้ผู้นำเอเปควันนี้ (19 พ.ย.) โดยสาระสำคัญที่ประชุมหารือถึงสถานการณ์ราคาพลังงานที่ทรงตัวสูง ความมั่นคงด้านอาหาร และเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาซัพพลายเชนหยุดชะงักในช่วงโควิดที่ผ่านมา โดยมองว่าปัญหาดังกล่าวสามารถนำหลักการ BCG ได้เเก่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาเป็นหลักการเพื่อกำหนดกรอบการทำงานทั้งเพื่อแก้ปัญหาปัจจุบัน และความท้าทายใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ ประเด็น BCG ที่ได้ถูกเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศไทย จะถูกนำไปสานต่อในการประชุมเอเปค ปี 2023 ที่สหรัฐเพื่อให้เกิดผลต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือหัวข้อย่อยการประชุม “Connect” ที่ประชุมเห็นว่าควรถอดบทเรียนจากโควิดเพื่อสร้างระบบการเชื่อมโยงกันในภูมิภาคที่ปลอดภัยแต่ไร้พรมแดน โดยไม่เน้นเฉพาะปัญหาโรคโควิดเท่านั้นแต่รวมถึงปัญหาอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“เรามี APEC Business Travel Card หรือ ABTC ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ามีความจำเป็น แต่เราก็มองว่าจะเดินทางกันอย่างไรให้ปลอดภัย และมีความเป็น Smart Mobility ซึ่งเรามองไปในระยะยาวให้เกิดความคล่องตัวและปลอดภัยด้วย”
ที่ประชุมยังเห็นด้วยถึงการเดินหน้าเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ทั้งเพื่อสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสำหรับเอสเอ็มอี และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ได้ให้ความเห็นเพิ่มว่าควรมีความยืดหยุ่นในแผนการพัฒนาที่มากขึ้น
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการประชุม APEC CEO Summit ว่า เวทีนี้เป็นหนึ่งในการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ที่กลับมาอีกครั้งของการประชุมในรูปแบบพบหน้ากัน ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณบวกให้เอเชีย-แปซิฟิก โดยข้อเสนอ 3 ประเด็น ที่เชื่อว่าภาครัฐ และภาคธุรกิจร่วมมือกันได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นทิศทางที่ไทยเชื่อว่าเป็นหนทางที่ภูมิภาค และโลกต้องก้าวไปให้ถึง ดังนี้
1.ขอให้นำเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการเจริญเติบโตเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นในระยะยาว ควบคู่กับการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม พร้อมทั้งหาหนทางที่เหมาะสมให้ธุรกิจยังสามารถมีผลกำไรได้ และการเงินการคลังที่ยั่งยืนก็มีความสำคัญ
ดังนั้น ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการเงินที่ยั่งยืนที่อิงกลไกตลาด ตราสารทางการเงิน และเทคโนโลยี รูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนของเงินทุนไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน เราจะสานต่อการทำงานเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ทางการเงิน ที่เอื้อให้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้
2.การเจริญเติบโตที่ครอบคลุม เราต้องมั่นใจว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงขอให้หันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน ต้องทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 98% ของธุรกิจทั้งหมดในภูมิภาค และคิดเป็น 40-60% ของจีดีพีในเขตเศรษฐกิจเอเปคส่วนใหญ่ให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างนวัตกรรมให้สามารถเข้าถึงตลาด และแหล่งเงินทุน
3.การมุ่งไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการสร้างอาชีพ ซึ่งประเทศไทย มีความกระตือรือร้นที่จะต้อนรับการลงทุน และแรงงานที่มีทักษะ และแรงงานขั้นสูงในภาคอุตสาหกรรมนี้ โดยมีมาตรการจูงใจทั้งทางภาษี และไม่ใช่ภาษี และเมื่อไม่นานมานี้ ได้เปิดตัวโครงการตรวจลงตราประเภทผู้พำนักระยะยาว 10 ปี พร้อมสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะสำหรับผู้มีความเชี่ยวชาญดิจิทัล นอกจากนี้ ไทยได้ตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เป็นส่วนหนึ่งของ EEC
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์