ไทย-ซาอุฯ เตรียมทวิภาคี MOU 3 ฉบับ ร่วมมือเศรษฐกิจ-ฟื้นสัมพันธ์การทูต
เจ้าชายซาอุฯ เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว “ประยุทธ์” เดินทางไปต้อนรับที่สนามบิน ก่อนเปิดทำเนียบรับเสด็จคืนนี้ ประชุมทวิภาคี หารือความร่วมมือหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคง เตรียมตั้งสภาฯความร่วมมือสองประเทศ และเตรียมตั้งเอกอัคราชทูตระหว่างกัน
เวลาประมาณ 23.15 น. วานนี้ (17 พ.ย.) เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เสด็จฯ เดินทางถึงประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างการประชุม APEC2022 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับเสด็จ ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง
ทั้งนี้ในวันนี้ จะมีพิธีรับเสด็จ และถวายพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีกำหนดการดังนี้
เวลา 22.00 น. มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เสด็จฯ ถึงทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลเชิญมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ฉายพระรูปร่วมกับนายกรัฐมนตรี ณ บันไดโถงกลาง ตึกไทยคู่ฟ้า
- ลงพระนามในสมุดเยี่ยมของรัฐบาล ณ ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
เวลา 22.15 น. การหารือทวิภาคี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
เวลา 23.15 น. งานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล
เวลา 00.15 น. นายกรัฐมนตรี ส่งเสด็จ มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ณ จุดเทียบรถยนต์พระที่นั่ง ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล
เวลา 23.00 น. นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลเชิญมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เสด็จฯ ไปยังโถงกลางตึกสันติไมตรี เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ
สำหรับความร่วมมือทั้งสองประเทศจะลงนามร่วมกัน เกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและขซาอุดีอาระเบียหลายด้าน ประกอบด้วย
1.แผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ.2565- 2567)
ภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทั้ง 3 ส่วน คือ
1)ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางพิเศษ และหนังสือเดินทางราชการ และจัดหาที่ดินที่มีความเหมาะสมสำหรับสถานเอกอัครราชทูต และทำเนียบเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเทพฯ
2)ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น ศึกษาประเด็นความร่วมมือในภาคพลังงาน เพิ่มการส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค การค้าปลีก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการลงทุนหรือการเงิน และจัดทำความตกลง 2 ฉบับเกี่ยวกับการรับสมัครแรงงานไทย
3)ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในด้านศิลปะและกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ และแสวงหาความร่วมมือด้านกีฬา อีสปอร์ต และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตระหว่างกันด้วย เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อน
2.บันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย
มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมในการหารือและส่งเสริมความร่วมมือที่สนใจร่วมกันในทุกมิติ ซึ่งจะกำหนดให้มีจัดประชุมร่วมกันเป็นระยะและสลับกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อติดตามความคืบหน้า
และ 3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างสองประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ
1)การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงและโอกาสทางธุรกิจ
2)การแลกเปลี่ยนกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนโดยตรง และการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของทั้งสองประเทศ
3)การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศ