กสิกรไทยหนุนใช้เวที CEO Summit เพิ่มโอกาสเศรษฐกิจไทย

กสิกรไทยหนุนใช้เวที CEO Summit เพิ่มโอกาสเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงเวลาการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพนั้น หนึ่งในการประชุมที่น่าจับตา คือ การประชุม APEC CEO Summit 2022 ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนชั้นแนวหน้าของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีระดับโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงเวลาการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพนั้น หนึ่งในการประชุมที่น่าจับตา คือ การประชุม APEC CEO Summit 2022 ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนชั้นแนวหน้าของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีระดับโลก โดยหัวข้อประชุมเน้นการเปิดกว้างสู่โอกาสด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ การสาธารณสุข และความเท่าเทียมกันทางเพศ การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนจะได้เสนอแนวทางออกแบบนโยบายให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

  ทั้งนี้ เรื่องต่างๆ ที่อยู่ในวาระการประชุม APEC CEO Summit 2022 ล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาในระยะข้างหน้า แต่ภายใต้บริบทความท้าทายทางเศรษฐกิจไทยที่เผชิญข้อจำกัดในการเติบโต และปัญหาโครงสร้างประชากรไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นที่ควรเร่งพัฒนาจึงอยู่ที่ 2 เรื่องหลัก คือ การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive growth) และความเสมอภาคทางเพศ (Gender equity) สะท้อนมุมมองสำคัญของภาคเอกชนในการแก้โจทย์เฉพาะหน้า ที่อาจมีผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในช่วงหลายปีต่อจากนี้

 โดยเฉพาะการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม กล่าวคือ การสนับสนุนการเติบโตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ จะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ จนสามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการประชุมเอเปคในครั้งนี้ รวมถึงความเสมอภาคทางเพศ ที่เป็นการให้โอกาสสตรีเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานได้อย่างเท่าเทียม ก็จะช่วยชดเชยการขาดแคลนแรงงานในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาความไม่สมดุลของประชากรในประเทศได้ในระยะยาว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ ในภาวะที่ไทยและหลายประเทศสมาชิกต่างกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
          "วิสัยทัศน์ดังกล่าวของภาคเอกชน ยังสอดคล้องกับภาครัฐบาล นำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ล้วนให้น้ำหนักกับประเด็นข้างต้น โดยบรรจุอยู่ในแผนการดำเนินงานในระยะข้างหน้า เพื่อเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจของไทยบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนในด้านต่างๆ" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
          นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาบทบาทของภาครัฐ ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC 2022) ที่มีกรอบแนวคิดหลัก "การเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงสู่สมดุล (Open Connect Balance)" ในประเด็นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเติบโตอย่างยั่งยืนผ่าน BCG Economy Model ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ตลอดจนสาธารณสุข
          แม้ว่าร่างถ้อยแถลงการณ์ผู้นำ (2022 Leaders Declaration) ที่ออกมาจะยังต้องดำเนินการสานต่อความร่วมมือจากชาติสมาชิกในการผลักดันวาระต่างๆ ให้ไปสู่เป้าหมาย แต่สำหรับไทย ในฐานะเจ้าภาพของการประชุมเอเปค ซึ่งเป็นเวทีระดับโลก ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำไทยจะใช้เวทีนี้ในการแสดงวิสัยทัศน์ในระดับนานาชาติ ในหัวข้อที่เป็นวาระของโลก ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับทิศทางการค้า การลงทุนที่เชื่อมโยงกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่จะมีผลต่อเรื่องความมั่นคงอาหารและพลังงานในระยะต่อไป
          ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการประชุมสำคัญอย่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน การประชุม G20 การประชุม COP 27 และล่าสุดการประชุมเอเปค ซึ่งล้วนหารือถึงจุดยืนที่สำคัญของสมาชิกในประเด็นที่เป็นวาระสำคัญของโลก โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ได้คลายความตึงเครียดลงระหว่างในระหว่างการประชุม G20 ขณะที่ประเด็นด้านสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังเป็นเรื่องซับซ้อนที่แต่ละประเทศล้วนมีแนวคิดที่ยังคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศตนเองเป็นสำคัญ
          "การประชุมในวาระต่างๆ ของเอเปค ล้วนมีวิสัยทัศน์ที่สำคัญ ทั้งจากภาคเอกชนผ่าน APEC CEO Summit 2022 และของภาครัฐบาลผ่านการประชุมในระดับผู้นำเอเปค APEC 2022 หากผสานมุมมองจากภาคเอกชนชั้นนำของสมาชิกเอเปคเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ น่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกต่อไป" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ