การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เรารับทราบข้อมูลว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและจีดีพีโดยรวม คาดว่าจะขยายตัวปีหน้าสูงกว่าปีนี้ แม้ว่าจะเป็นการฝืนแนวโน้มเศรษฐกิจของโลกที่ปีหน้าจีดีพีจะขยายตัวต่ำกว่าปีนี้
การวัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการขยายตัวของจีดีพีนั้น เป็นแนวทางหลักแนวทางหนึ่ง แต่เราก็มีความกังวลกันว่าการฟื้นตัวนั้นอาจไม่กระจายตัวไปอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง การฟื้นตัวก็คงมีความเหลื่อมล้ำเช่นกัน
ผมจึงได้กลับมาดูตัวเลขสินเชื่อและสินเชื่อด้อยคุณภาพโดยรวม ตลอดจนตัวเลขดังกล่าวของเอสเอ็มอีและระดับหนี้ครัวเรือนซึ่งปรากฏในตาราง
ตัวเลขสินเชื่อโดยรวมนั้นควรจะต้องเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็วและต่อเนื่องเพื่อยืนยันว่าเศรษฐกิจฟื้นจริง เพราะจะสะท้อนผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีความมั่นใจในอนาคตจึงกล้ากู้ยืมเงินมากขึ้น
ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็มีความมั่นใจในศักยภาพของลูกหนี้เช่นกัน จึงได้ยอมปล่อยกู้เพิ่มขึ้น
ซึ่งตัวเลขสินเชื่อโดยรวมนั้นต้องบอกว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เช่นในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วอยู่ที่ 15.24 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 15.69 ล้านล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นเท่ากับ 3.0% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 6% ต่อปี แปลว่าสินเชื่อจริงเกือบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย
ในส่วนของสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (special mention loan หรือ SML) นั้น ก็จะเห็นได้ว่ายังไม่ได้ปรับลดลงมากนักจากปีก่อนหน้า ซึ่งสินเชื่อที่จัดว่าเป็น SML นั้นคือหนี้ที่เกรงว่าจะเป็นหนี้เสียในอนาคต เพราะลูกหนี้เริ่มผิดนัดชำระดอกเบี้ย
ดังนั้น จึงต้องลุ้นอย่างมากว่าในครึ่งหลังของปีนี้มูลหนี้ในส่วนของ SML นี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้หรือไม่ เพราะในภาวะปกติก่อน COVID-19 คือไตรมาส 4 ของปี 2019 นั้น SML มีเพียง 0.42 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 1.03 ล้านล้านบาทเช่นเมื่อกลางปีนี้
สำหรับ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL นั้น ก็คงไม่ต้องอธิบายมากเพราะเห็นได้จากตัวเลขว่ายังไม่มีแนวโน้มลดลงมากนักและยังสูงกว่ายุคก่อน COVID-19 ระบาดเมื่อปี 2019
สำหรับ หนี้ครัวเรือนนั้นจะเห็นได้ว่า แม้สัดส่วนต่อจีดีพีจะเริ่มขยับลงจากจุดสูงสุดในไตรมาส 2 ของปีที่แล้วที่ 89.7% แต่ก็ไม่ได้ลดลงมากนักคือยังอยู่ที่ 88.3% ในไตรมาส 2 ของปีนี้
ส่วนใหญ่เพราะจีดีพีเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการ (เงินเฟ้อ) เป็นหลัก (แต่ก็ยังดีหากจีดีพีที่เพิ่มขึ้นกระจายไปที่ผู้ที่มีรายได้น้อยและมีหนี้สินมาก)
อย่างไรก็ดี ขนาดของหนี้ครัวเรือนนั้นยังไม่ได้ลดลงในเชิงของจำนวนเงินเลย กล่าวคือยังเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 ล้านบาททุกไตรมาสในปีนี้และหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 2 ของปีนี้สูงกว่าหนี้ครัวเรือนก่อน COVID-19 ระบาดถึง 1.275 ล้านล้านบาท
แต่ภาคส่วนที่ยังน่าเป็นห่วงมากที่สุดคือเอสเอ็มอี เพราะการปล่อยสินเชื่อยังต่ำกว่าสมัยก่อน COVID-19 ระบาดอย่างมาก (แม้ว่าอาจจะมีการปรับวิธีการวัดสินเชื่อที่ปล่อยให้กับเอสเอ็มอี)
เห็นได้ว่าสินเชื่อในไตรมาส 2 ปี 2020 ที่ 3.06 ล้านล้านบาทก็ยังสูงกว่าสินเชื่อของเอสเอ็มอีในไตรมาส 2 ของปี 2022 ที่ 2.82 ล้านล้านบาท นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่าสินเชื่อที่ปล่อยให้กับเอสเอ็มอีนั้นเพิ่มขึ้นน้อยมากในปี 2022 (1.37%) คือขยายตัวต่ำกว่าเงินเฟ้อ
ที่สำคัญคือ NPL ของเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลง ในขณะที่ SML ก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงมากเทื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ระบาด ตัวอย่างเช่น SML ในไตรมาส 4 ปี 2019 มีเพียง 0.17 ล้านล้านบาท เทียบกับ 0.39 ล้านล้านบาทในไตรมาส 2 ของปี 2022
นอกจากนั้น ผมได้นำเอาตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในภาคเกษตรมาให้ดูด้วย ซึ่งจะสามารภประเมินจากตัวเลข NPL ได้ว่าธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับภาคเกษตรน้อยมาก
เช่น เมื่อสัดส่วนของ หนี้เสียในภาคเกษตร เท่ากับ 10% สินเชื่อทั้งหมดที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้กับภาคเกษตร มีมูลค่าเท่ากับ 9,440 ล้านบาท ก็แปลว่าธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับภาคเกษตรไม่ถึง 10,000 ล้านบาท (ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรเกือบทั้งหมดคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.))
แต่ข้อมูล NPL ดังกล่าวก็ยังบ่งชี้ว่าเกษตรกรยังเผชิญปัญหา เพราะสัดส่วน NPL นั้นได้เพิ่มขึ้นจาก 6.7% ในไตรมาส 4 ของปี 2019 มาเป็น 10% ในปี 2022 และ 2021
ในครั้งต่อไปผมจะนำเสนอข้อมูลของ ธกส.เกี่ยวกับสินเชื่อจัดขั้นของเกษตรกร ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าภาคเกษตรก็ต้องเผชิญปัญหาหนี้เสียไม่น้อยเหมือนกันครับ