ถอดรหัส 'GDP Q3/65' โต 4.5% เครื่องยนต์เศรษฐกิจอะไรเป็นแรงหนุน
เปิดปัจจัยจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2565 โตได้ถึง 4.5% อานิสงค์ส่งออก - ท่องเที่ยว การบริโภคเอกชนขยายตัว หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากโควิด-19
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3/2565 ขยายตัวได้ 4.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปรับฤดูกาลเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนถือว่าเป็นการขยายตัวได้ต่อเนื่อง 4 ไตรมาสตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา รวม 9 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.1%
การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวได้ถึง 4.5% มาจากปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจได้แก่
1.การใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเร่งขึ้น โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูง 9.0% เร่งขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.5% และ 7.1% ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สองของปี 2565 ตามลำดับ เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส ตามการใช้จ่ายที่ขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวด
2.ภาคการค้าต่างประเทศ การส่งออกมีมูลค่า 71,980 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.7% ปริมาณและราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 2.1% และ 4.4% เทียบกับการเพิ่มขึ้น 4.4% และ 5.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 6.4% และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 18.1% ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 71,558 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 23.2% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 22.4% ในไตรมาสก่อนหน้า
กลุ่มสินค้า ที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ (10.3%) รถกระบะและรถบรรทุก (12.8%) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (11.6%) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (13.6%) อุปกรณ์และเครื่องมือด้านการแพทย์ (9.9%) อาหารสัตว์ (22.0%) น้ำตาล (121.4%) ข้าว (12.4%) และยางพารา (0.2%) เป็นต้น
ส่วนปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้น 8.0 % และ 14.1% ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 0.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (17.1 พันล้านบาท) รวม 9 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 219,791 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว10.2% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 204,917 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 20.7% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 14.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (502.1 พันล้านบาท)
3.การใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัว 15.8% เร่งขึ้นจาก 14.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มนันทนาการและวัฒนธรรม
4. การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัว 18.2% เร่งขึ้นจาก 3.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะ และการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจาก 2.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งขึ้นของการใช้จ่ายกลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 3.6% เร่งขึ้นจาก 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในกลุ่มเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง และกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า
สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมาอยู่ที่ระดับ 37.6 จากระดับ 34.9 ในไตรมาสก่อนหน้า รวม 9 เดือนแรกของปี 2565
5.การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 6.5% ส่วนค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) ขยายตัว 1.6%
6.การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง 11% เร่งขึ้นจาก 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือ 13.9% ขณะที่การลงทุนก่อสร้างขยายตัว 2.0% เทียบกับการลดลง 1.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 7.3% แต่ปรับตัวดีขึ้นจาก การลดลง 9% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนรัฐบาลลดลง 11.8% ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 1.1%
7.อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 21.2% สูงกว่าอัตราเบิกจ่าย 19.2% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่า 24% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือนแรกของปี 2565 การลงทุนรวมขยายตัว 1.6% โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 5.3% ขณะที่ การลงทุนภาครัฐลดลง 7.0%
8.เครื่องยนต์ภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3/2565 สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 53.6% และเร่งขึ้นจากการขยายตัว 44.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการขยายตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยวในประเทศ
โดยในไตรมาสนี้ นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 3.608 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจาก การดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และสถานการณ์ด้านการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น
ส่วนรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 0.158 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 1,497.1% เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการดำเนินนโยบายกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 47.80% สูงกว่า 42.09% ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่า 5.46 % ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือนแรกของปี 2565 สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 43.7% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง 17.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 5.688 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1,863.1% และอัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 42.02% สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้น 3.5% เร่งขึ้นจาก 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีรวมการขายส่งและการขายปลีก