ส่องเทรนด์อีคอมเมิร์ซแห่งอนาคต เตรียมพร้อมผู้ประกอบการรับโอกาสใหม่
แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงร้อนแรงและเติบโตอย่างทวีคูณ ด้วยความคุ้นชินของผู้บริโภคแบบปกติใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้การแข่งขันในตลาดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าผู้เล่นที่หายไปจากตลาด
นางสาวกุลธิรัตน์ ภควิชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท เทค อี-บิสสิเนส เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวในงานสัมมนา "สมาร์ทซิตี้ กับ สมรรถนะการแข่งขันของเมือง" หัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน” โดย “กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมกับ “สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย” ว่า มูลค่าของตลาดอีคอมเมิร์ซโลกคาดว่าจะเติบโตแบบทวีคูณในระหว่าง 2565-2568 จาก 5 ล้านล้านดอลลาร์ มาอยู่ที่ 7.391 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียนก็มีการเติบโตอย่างมากเช่นกันซึ่งไทยจัดอยู่ในประเทศ Top 5 ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยอยู่ที่ 1.06 แสนดอลลาร์ ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมีปัจจัยหลักจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงโควิด และกลายเป็นความปกติใหม่ที่คุ้นชินกับการซื้อขายผ่านออนไลน์
"ไทยมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเกิดใหม่ที่เข้ามาในตลาดจำนวนมากทั้งภาคโลจิสติกส์ การชำระเงิน และการตลาด ซึ่งแน่นอนว่ามีบางส่วนที่ออกจากตลาดไปแต่ผู้เล่นใหม่ที่เข้ามามีจำนวนล้นหลาม แม้ว่าแพลตฟอร์มที่ครองส่วนแบ่งตลาดจะมีเพียงไม่กี่ราย"
ทั้งนี้ จาการทำงานร่วมกับสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และหน่วยงานพันธมิตรในต่างประเทศ จึงอยากยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศจีน ซึ่งมีการดำเนินนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจังเพื่อผลักดันเป้าหมาย "Wold AI Leadership" ภายในปี 2030 แบ่งออกเป็น 2 นโยบายที่อยากให้มีการนำมาใช้ในไทย ได้แก่
1. Live-Commerce Streaming คือรูปแบบการขายผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ซึ่งในจีนตั้งงบประมาณให้กับท้องถิ่นและผู้ประกอบการในชุมชนและเมือง เพื่อผลักดันขับเคลื่อนเอสเอ็มอีในการขายผ่านช่องทางไลฟ์สตรีมมิ่ง นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดกฎระเบียบในเรื่องการให้ข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการโฆษณาเกินจริง โดยต้องให้ข้อมูลที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเท่านั้น
2. Metaverse City ซึ่งปัจจุบันมีการนำร่องเมืองเมตาเวิร์สในจีนแล้ว 6 แห่ง เป็นนโยบายส่งเสริมด้านการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพใหญ่
สำหรับเทรนด์ในอนาคตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซมี 3 เรื่องหลักที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ ประกอบด้วย 1.การใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ในการดึงให้ลูกค้าเดิมกลับมาซื้อซ้ำ
2. การสร้างพันธมิตรให้มีการค้าขายระหว่างแดนผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
3.Meta Commerce เป็นเรื่องใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 5-8 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องรีบศึกษาเรื่องเหล่านี้และก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ทั้งนี้ สำหรับความผิดพลาดที่สำคัญของผู้ประกอบการที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เกี่ยวข้องกับ 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1. สินค้าและบรรจุภัณฑ์ จะต้องมีการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการไม่ใช่ผู้ขายต้องการ
2. ช่องทางการขาย แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทยมีหลากหลายช่องทางมาก ผู้ประกอบการต้องลองขายในหลายๆ ช่องทางก่อนจะตัดสินว่าสินค้าที่ทำออกมานั้นล้มเหลวหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้ซื้อจึงค่อยกลับมาพิจารณาสินค้าใหม่อีกครั้ง
3. การบริการลูกค้าอย่างดีที่สุด ทั้งก่อนซื้อและหลังการขาย ลูกค้าคือหัวใจสำคัญของการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การมีรีวิวจากลูกค้าจะช่วยเพิ่มการตัดสินใจซื้อของลูกค้ารายอื่น