'คมนาคม' ขู่ดึงผู้ประกอบการใหม่ขนกระเป๋า จี้ 'การบินไทย' แก้ปัญหาล่าช้า
'คมนาคม' นัดถก การบินไทย และ BFS สางปัญหาขนถ่ายกระเป๋าล่าช้า ลั่นหากดำเนินการไม่ได้ เตรียมดึงโอเปอร์เรเตอร์รายใหม่ให้บริการ พร้อมสั่ง ทอท.เตรียมเปิดอาคารแซทเทิลไลท์ไตรมาส 1 ปีหน้า รับดีมานด์ผู้โดยสารเพิ่ม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจติดตามความคืบหน้าตามข้อสั่งการในการเตรียมความพร้อมการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดบระบุว่า ปัจจุบันปริมาณการเดินทางทางอากาศของประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางช่วงเวลามีผู้โดยสารหนาแน่นและเกิดปัญหาความล่าช้าในการให้บริการ กระทรวงฯ จึงเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว และพบว่าขณะนี้ปัญหาความแออัดบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว
โดยปัจจุบันสามารถบรรเทาความแออัดบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการบริหารจัดการคิวรอตรวจหนังสือเดินทางเป็นระเบียบ ผู้โดยสารได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยผู้โดยสารใช้เวลารอคิวเพื่อตรวจหนังสือเดินทางเฉลี่ย 15 นาทีต่อคน และใช้เวลาหน้าจุดตรวจหนังสือเดินทาง 60 วินาทีต่อคน ทั้งนี้ ในช่วงเวลาคับคั่งที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก เจ้าหน้าที่สามารถระบายผู้โดยสารทั้งหมดได้ภายในเวลา 30 นาที ซึ่งถือว่าสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว
ในส่วนของปัญหาการรับกระเป๋าสัมภาระล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ ทำให้การบริการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระขาเข้ามีความล่าช้าในบางเที่ยวบิน ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้แก้ไขปัญหาในเบื้องต้น โดยประสานแจ้งข้อมูลประมาณการผู้โดยสารขาเข้ารายเที่ยวบินล่วงหน้าให้เจ้าหน้าที่หน้างานเพื่อเตรียมความพร้อม กรณีตรวจพบว่ามีการลำเลียงสัมภาระใบแรก (First Bag) ล่าช้าเกินกว่า 15 นาที จะดำเนินการแจ้งบริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นเร่งดำเนินการแก้ปัญหา ซึ่งขณะนี้บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นอยู่ระหว่างการจัดหาอุปกรณ์และบุคลากรมาให้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถขนถ่ายสัมภาระของเที่ยวบินต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"ตอนนี้พบว่าปัญหารับกระเป๋าสัมภาระล่าช้าเกินกว่า 30 นาที คิดเป็นภาพรวมอยู่ที่ประมาณ 40% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความล่าช้าในเที่ยวบินของสายการบินไทย พบว่าล่าช้าสูงสุดถึง 1.30 ชั่วโมง และยังมีส่วนของ BFS ที่ล่าช้าประมาณ 25 นาที โดยจากการสอบถามผู้ให้บริการ ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการลดต้นทุน ลดขนาดองค์กรในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พนักงานที่ต้องให้บริการส่วนนี้ขาดหายไป เช่น เดิมเที่ยวบินขนาดใหญ่ต้องมีพนักงาน 3 ทีม ปัจจุบันเหลือให้บริการแค่ 1 ทีม"
อย่างไรก็ดี จากปัญหาขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระล่าช้านั้น กระทรวงฯ เตรียมนัดหารือกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) ในสัปดาห์หน้า เพื่อจัดทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) แก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยกระทรวงฯ ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาขนถ่ายสัมภาระล่าช้าให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน แต่หากผู้ประกอบการปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ กระทรวงฯ มีแนวทางที่จะเปิดหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาให้บริการเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่ามีผู้ประกอบการที่มีความพร้อมดำเนินการจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ได้สั่งการให้ ทอท.ร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแอคชั่นแพลน ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเน้นย้ำให้ ทอท. วิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณการเดินทางและเที่ยวบินที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้การบริการมีความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีจำนวนเที่ยวบินหนาแน่น นอกจากนี้ ในปี 2566 กระทรวงฯ ยังมีนโยบายให้ ทอท.เร่งเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ภานในไตรมาส 1 เพื่อลดความแออัดในพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางบริเวณอาคารผู้โดยสารหลัก และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่ปัญหาความคับคั่งในการใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะ ในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารใช้บริการหนาแน่น ขณะนี้ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งเปิดช่องทางแท็กซี่เพิ่มเพื่อให้รถแท็กซี่สามารถเข้ามารับผู้ใช้บริการได้เร็วขึ้น รวมทั้งขยายพื้นที่รอคอยกดตั๋วแท็กซี่ และกำหนดจุดยืนรอคิวรับบริการแท็กซี่ เพื่อความเป็นระเบียบและลดความแออัดของผู้มาใช้บริการ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารสามารถลดระยะเวลาในการรอคิว รถแท็กซี่เหลือเพียงประมาณ 10 นาทีต่อคน
ทั้งนี้ ปัจุบันมีจำนวนผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะที่เป็นสมาชิกให้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ประมาณ 2,400 คัน ลดลงจากช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ที่มีผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะที่เป็นสมาชิก ประมาณ 4,200 คัน แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนรถแท็กซี่ที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการ เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขผู้ใช้บริการยังน้อยกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาด Covid-19 โดยมีจำนวนเที่ยววิ่ง 6,500 เที่ยวต่อวัน ในขณะที่ช่วงก่อนการแพร่ระบาด Covid-19 มีเที่ยววิ่งสูงถึง 9,000 เที่ยวต่อวัน ทั้งนี้ตนได้สั่งการให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพิ่มการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ และพิจารณานำรถขนส่งสาธารณะประเภทอื่น ๆ มาให้บริการเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาความแออัดผู้โดยสารในระยะเร่งด่วน ปัจจุบันผู้โดยสารใช้เวลาตั้งแต่ลงเครื่องรับสัมภาระกระเป๋าจนออกจากท่าอากาศยาน มีระยะเวลาเฉลี่ยในกระบวนการขาเข้าระหว่างประเทศ ประมาณ 40 นาที ต่อผู้โดยสาร 1 คน ซึ่งถือว่าการบริการในภาพรวมทุกกระบวนการมีความคล่องตัวขึ้น โดยจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในช่วงเดือน ธ.ค.2565 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมประมาณ 130,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 13% จากเดือน พ.ย. 2565 ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวมประมาณ 115,000 คนต่อวัน